รมช.คลัง คาดแนวทางกู้เงินจ่ายหนี้ชาวนาชัดเจนภายในสิ้นพ.ค.นี้

ข่าวการเมือง Friday May 16, 2014 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เร่งทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินเรื่องการปล่อยกู้ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งหากยังพบข้อติดขัดใดๆ ทั้งในแง่กฎหมายหรืออื่นๆ ให้เร่งหาทางออก โดยขอความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.), คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือศาลรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนเรื่องแนวทางการกู้เงินทั้งหมด

โดยเบื้องต้นประเมินว่ารัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินอีกจำนวน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อมาใช้จ่ายให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทยอยจ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้ว 1 แสนล้านบาท และยังเหลือค้างจ่ายอีกราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เมื่อหักเงินจากกองทุนช่วยเหลือชาวนาจำนวน 2 หมื่นล้านบาท และเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์อีก 1 หมื่นล้านบาท จะทำให้รัฐบาลเหลือหนี้ที่ค้างจ่ายชาวนาทั้งสิ้นเพียง 6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ขณะที่นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวอีกราว 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับจ่ายให้ชาวนาที่ยังรอรับเงินอยู่ในขณะนี้ โดยการดำเนินการทั้งหมดจะเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.ย.56 และ 21 ม.ค.57 ที่เห็นชอบให้มีการกู้เงินในโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2556/57 จำนวน 1.3 แสนล้านบาท

ส่วนโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรนั้น ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการเปิดใช้งานบัตรสินเชื่อดังกล่าวไปแล้วทั้งสิ้น 4.08 ล้านใบ มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรในปีบัญชี 2556 อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 40.48% ซึ่งสินค้าที่เกษตรกรนิยมใช้จ่ายผ่านบัตร คือ ปุ๋ย 66% น้ำมันเชื้อเพลง 15% เคมีภัณฑ์ 10% ส่วนที่เหลือเป็นเมล็ดพันธุ์และเครื่องมือทางการเกษตร จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 1.2 หมื่นร้านค้า โดยปัจจุบันมีจำนวนลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ในโครงการทั้งสิ้น 8.79 พันราย หรือคิดเป็นวงเงิน 117 ล้านบาท หรือ 0.64% เนื่องจากเกษตรกรเจ้าของบัตรบางส่วนได้รับผลกระทบจากการที่ยังไม่ได้รับเงินในโครงการรับจำนำข้าว และผลกระทบจากอุทกภัยปี 2556

อย่างไรก็ดี ธ.ก.ส. มีแผนจะเพิ่มจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็น 2 หมื่นร้านค้า เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ รวมถึงเพิ่มยอดการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรอีก 2 แสนใบ เพื่อให้ทั่วถึงลูกค้าที่ขึ้นทำเบียนใหม่ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ