อย่างไรก็ตาม เพื่อขจัดข้อถกเถียงว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าวยังคงมีผลในทางกฎหมายอยู่หรือไม่และเพื่อขจัดความสับสนในทางปฏิบัติของบรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดจนบุคคลทั่วไปว่าจะต้องปฏิบัติตามประกาศกองทัพบกและประกาศฉบับอื่นๆต่อมาหรือไม่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบนำร่างพระบรมราชโองการยกเลิกประกาศกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 ทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป
แถลงการณ์ของนิติราษฎร์ ระบุว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะต้องกระทำในรูปแบบพระบรมราชโองการ และต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึก หาใช่อำนาจของผู้บัญชาการทหารบกไม่
อีกทั้ง ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 กำหนดว่าการประกาศกฎอัยการศึกต้องเป็นกรณีที่เกิด “สงคราม" หรือ “จลาจล" เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ยังไม่ปรากฏว่าเกิด “สงคราม" หรือ “จลาจล" ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอันจะเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่แห่งนั้นหรือผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้แต่อย่างใด อนึ่ง หากมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ผู้ประกาศก็จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด อันแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเมื่อมีเหตุสงครามหรือจลาจลในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทหารก็ไม่สามารถมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนได้
สำหรัประกาศกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 อ้างสถานการณ์ที่มีการชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกให้มีผลทั่วราชอาณาจักร เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การชุมนุมทางการเมืองอยู่ในอาณาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่ได้ครอบคลุมไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ การประกาศกฎอัยการศึกโดยให้มีผลทั่วราชอาณาจักรจึงเกินความจำเป็น ขัดกับหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วนที่เรียกร้องว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องกระทำเท่าที่จำเป็นซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในระดับรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรงจนถึงขนาดจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อจัดการแก้ไขปัญหารัฐบาลสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายพิเศษ๒ ฉบับได้แก่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และการประกาศตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด