4 องค์กรวิชาชีพ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ทบทวนการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งของ กอ.รส.มีเนื้อหาที่กระทบกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่รับรอง “เสรีภาพแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น“ อยู่หลายประการ
อนึ่ง กองทัพบกมีประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และได้มีประกาศคำสั่งออกมาหลายฉบับ เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ประกอบด้วยคำสั่งฉบับที่ 3/2557 และคำสั่งฉบับที่ 6/2557 คำสั่งฉบับที่ 7/2557 คำสั่งฉบับที่ 8/2557 และคำสั่งฉบับที่ 9/2557 นั้น
แถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1.คำสั่งฉบับที่ 6/2557 และคำสั่งฉบับที่ 7/2557 ของ กอ.รส. ซึ่งขอความร่วมมือให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 14 แห่งและสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด ให้ระงับการออกอากาศจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงนั้น อาจมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 45 วรรค 3 ที่บัญญัติว่า “การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่นๆ เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพจะกระทำมิได้" ซึ่งเป็นบทบัญญัติห้ามฝ่าฝืนโดยเด็ดขาด นอกจากนั้น ความในวรรคต่อมา ที่บัญญัติว่า “การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ก็ไม่สามารถก้าวล่วงได้เช่นกัน แม้จะมีข้อยกเว้นแต่ก็เป็นการยกเว้นที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องบังคับใช้ด้วยความระมัดระวังให้มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนน้อยที่สุด
ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุที่นำเสนอเนื้อหาทางการเมืองบางสถานี ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง มีการถ่ายทอดสดการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีการปราศรัยหรือ อภิปรายซึ่งบางครั้งมีลักษณะเป็นการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง(Hate Speech) ขาดความตระหนักถึงการใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ จนอาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น กอ.รส. ควรใช้โอกาสนี้ ขอความร่วมมือจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการ กำกับดูแลให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชนต่างๆ ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้แต่ละสถานีมีผังรายการที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้มีการตระหนักถึงหลักการ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ" และขอเรียกร้องให้ กอ.รส. พิจารณาอย่างรอบคอบในการใช้อำนาจสั่งปิดสื่อที่อาจเข้าข่ายก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม ซึ่งเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างรุนแรง
2.ขอเรียกร้องให้ กอ.รส. ยกเลิกคำสั่งที่ 9/2557 ที่ห้ามเชิญบุคคลให้สัมภาษณ์ หรือแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อประเภทต่างๆ โดยทันที เพราะถือเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นและไม่สอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและกองบรรณาธิการสื่อต่างๆ ก็มีดุลพินิจที่จะเชิญบุคคลให้แสดงความเห็นหรือสัมภาษณ์ที่ไม่นำไปสู่การขยายความขัดแย้งและความรุนแรงได้อยู่แล้ว
3.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นว่าการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก มีผลกระทบต่อเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังนั้น กอ.รส.ควรประกาศเจตนารมณ์ให้ชัดเจนว่าจะสนับสนุนและไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง พร้อมทั้งให้ความเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องครบถ้วนและรอบด้าน รวมทั้งเคารพเสรีภาพของสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งการแสดงจุดยืนดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน และได้รับการยอมรับในสายตาของนานาชาติที่กำลังจับตามองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้
4.ขอเรียกร้องมายังผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกคนให้ตระหนักว่า ต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อ่อนไหว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อทุกแขนงต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการปฏิบัติงาน เพื่อจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด ตลอดจนทำงานด้วยความรับผิดชอบและยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด