"ยังยึดตามประกาศเดิม" พ.อ.วินธัย กล่าว
อนึ่ง ได้มีกระแสข่าวเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ ระบุว่า ได้ขยายเวลาประกาศเคอร์ฟิวต่อเนื่องอีก 4 วัน คือ 25-28 พ.ค. โดยให้ปรับเวลา ประกาศเคอร์ฟิว เป็น 24.00-04.00 น. ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 24 จังหวัด
พ.อ.วินธัย กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ข่าวลือเป็นปัญหาหลัก มีการใช้โซเชียลมีเดียบิดเบือนข้อมูล ยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ คสช.จะเร่งดำเนินการโดยเน้นการใช้กฎหมายความมั่นคงเป็นหลัก
พร้อมย้ำว่าการประกาศเคอร์ฟิวเพื่อให้ง่ายต่อการรักษาความสงบ เพราะเมื่อมีการประกาศกฎหมายความมั่นคงสูงสุดแล้วยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ การจะทำให้บ้านเมืองเป็นปกติก็จะทำได้ยาก รวมถึงการยกเลิกหรือปรับลดมาตรการต่างๆก็ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของประชาชนด้วย
สำหรับการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจการปกครองประเทศนั้น พบว่ามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามระบอบประชาธิปไตยและกลุ่มที่เคลื่อนไหวโดยมีนัยแอบแฝง ต้องการยุยง ปลุกปั่น ซึ่งการเคลื่อนไหวของทั้งสองกลุ่มถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าดำเนินการแต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้บังคับหน่วยตามจุดต่างๆโดยเน้นการเจรจาและให้ยุติการกระทำ และจากการติดตามการเคลื่อนไหวกลุ่มที่ออกมาต่อต้านใช้ช่องทางโซเชียลในการติดต่อสื่อสารและชักจูงให้มาร่วมชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตัดช่องทางการสื่อสารเป็นอันดับแรก
ด้านพ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ยืนยันว่าการปฏิงานของ คสช.จะยึดโยงตามกรอบกฎหมายและขอความร่วมมือจากประชาชนในการแก้ไขปัญหาประเทศ ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวง ทบวง กรมต่างๆยังทำงานได้ตามปกติแต่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก คสช.
คสช.ได้ย้ายศูนย์กลางการปฏิบัติงานจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ถ.วิภาวดีไปที่กองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งวันนี้ผู้แทนจากกระทรวง ทบวง กรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เริ่มทำงานในสถานที่ดังกล่าวแล้ว
ส่วนการพบปะระหว่างหัวหน้า คสช.กับตัวแทนนักธุรกิจญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคสช.ได้ชี้แจงถึงเหตุผล และความจำเป็น เพื่อทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเกิดความเชื่อมั่น พร้อมทั้งยืนยันจะรักษาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งในส่วนภาคราชการและเอกชนต่อไป และให้ความมั่นใจจะปกป้องธุรกิจญี่ปุ่นที่มาประกอบในไทยอย่างเต็มที รวมถึงข้อตกลงที่ทำร่วมกันก็ให้ดำเนินการต่อไป
ขณะที่ทางสภาหอการค้าญี่ปุ่นเข้าใจสถานการณ์ในประเทศ และมั่นใจไม่ส่งผลต่อธุรกิจการค้า พร้อมทั้งเสนอให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยร่วมกัน แต่ไม่ได้พูดถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และฝากให้ช่วยดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องอุปโภค และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทางหัวหน้าคสช.จะรับไว้พิจารณา