คลัง เผย S&P คงเครดิตไทยมองศก.ยังแกร่ง แต่จับตาเสถียรภาพการเมือง-การคลัง

ข่าวการเมือง Tuesday May 27, 2014 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Standard and Poor’s (S&P’s) ว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 12.00 น. ของประเทศไทย S&P’s ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินตราต่างประเทศ (Long-term/Short-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+/A-2 และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท (Long-term/Short-term Local Currency Rating) ที่ระดับ A-/A-2

พร้อมกับยืนยันแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) และยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยบน ASEAN Regional Scale ระยะยาวที่ axAA และระยะสั้นที่ axA-1 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้ประเมินการเคลื่อนย้ายและความคล่องตัวในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคงที่อยู่ในระดับ A

ทั้งนี้ S&P’s ให้เหตุผลว่า สถานะภาคต่างประเทศของไทยยังมีความแข็งแกร่ง การมีหนี้รัฐบาลอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และการมีประวัติการดำเนินนโยบายการเงินที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและการเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่จัดอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำ (Low-income Economy) ยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย

S&P’s ชี้แจงว่า ปัจจัยที่ยังคงเป็นจุดแข็งต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ได้แก่ การมีสถานะการลงทุนระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและมีสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่มากเพียงพอ การเกินดุลการชำระเงินเป็นเวลานานทำให้ไทยมีทุนสำรองที่สามารถรองรับดุลบัญชีเดินสะพัดได้ประมาณ 7.5 เดือน และการมีภาระหนี้ต่างประเทศสุทธิที่ยังอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 26 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (ซึ่งเกือบร้อยละ 70 นั้นมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในหลักทรัพย์) และตามนิยามหนี้ต่างประเทศสุทธิอย่างแคบ ประเทศไทยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สุทธิคิดเป็นมูลค่ามากกว่าร้อยละ 20 ของบัญชีเดินสะพัด ณ สิ้นปี 2556 หนี้ต่างประเทศของภาคธนาคารและภาคเอกชนโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 115 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นหนี้ระยะสั้นประมาณครึ่งหนึ่ง S&P’s เชื่อว่า การปรับโครงสร้างหนี้จำนวนนี้อาจทำได้ยากหากทัศนคติต่อตลาด (Market Sentiment) ที่มีต่อประเทศไทยนั้นเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

S&P’s เห็นว่า การที่รัฐบาลได้เกินดุลในเบื้องต้นได้ช่วยรักษาระดับหนี้ของรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและถึงแม้ว่าการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อผลที่เกิดจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจจะทำให้หนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นก็ตาม S&P’s ยังคาดว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า หนี้ของรัฐบาลสุทธิจะยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ นอกจากนี้ ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของรายได้ของรัฐบาลทำให้เกิดภาระต่อภาคการคลังในระดับปานกลางเท่านั้น

S&P’s กล่าวอีกว่า อัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพเป็นเสาหลักที่สำคัญของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและสะท้อนถึงประสิทธิภาพของนโยบายการเงินที่สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.1 ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่เหมาะสมนี้ ได้ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของนโยบายทางการเงินและเอื้ออำนวยต่อการเติบโตของตลาดเงินในประเทศไทย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของนโยบายทางการเงินอีกด้วย

อย่างไรก็ดี S&P’s เห็นว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นจุดอ่อนหลักของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลด้วย และผลจากความไม่แน่นอนดังกล่าวจึงเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากการชุมนุมทางการเมืองได้สร้างความเสียหายแก่ภาคการท่องเที่ยวของประเทศอย่างรุนแรง

และถึงแม้ว่ากองทัพได้ประกาศกฎอัยการศึกในสัปดาห์นี้แต่กองทัพยืนยันว่าไม่ได้เป็นการพยายามช่วงชิงอำนาจมาจากรัฐบาลที่ยังคงรักษาการอยู่ ในมุมมองของ S&P’s เห็นว่าการดำเนินการของกองทัพอาจช่วยให้สถานการณ์มีเสถียรภาพโดยการยับยั้งข้อขัดแย้งรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยได้มีการนำแกนนำทั้งสองฝ่ายมาเจรจาต่อรองร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขชั่วคราวเพื่อให้สามารถจัดการการเลือกตั้งได้อีกครั้ง

S&P’s เห็นว่า ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนและส่งผลให้แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะใกล้ปรับลดลงด้วย ทั้งนี้ S&P’s ได้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของไทยในปี 2557 ไว้ที่ 5,700 เหรียญสหรัฐ ซึ่งระดับรายได้นี้นับเป็นข้อจำกัดสำคัญต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะกลางแม้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตในระดับเดียวกันกับในช่วงที่สภาวการณ์ทางการเมืองเป็นปกติ นอกจากนี้ S&P’s เห็นว่า ตัวชี้วัดด้านระดับรายได้ของประเทศไทย ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สาธารณสุข และการศึกษา ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า

แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ S&P’s กล่าวอีกว่า แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพนี้ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของ S&P’s ว่า ประเทศไทยจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศ ภาคการคลัง และภาคการเงินภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปัจจุบันไว้ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี S&P’s อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยได้หากเสถียรภาพทางด้านการเมืองและสถาบัน(institutional)ถดถอยลงไปมากกว่าที่ S&P’s สังเกตการณ์ไว้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง S&P’s มองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และ S&P’s อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้อีกหากตัวชี้วัดด้านการคลังหรือด้านเศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในทางกลับกัน S&P’s อาจดำเนินการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือให้ประเทศไทยได้หากความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลงอย่างเห็นได้ชัดซึ่งจะช่วยให้ตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจและการเงินดีขึ้น โดย S&P’s มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้หากขั้วทางการเมืองหลักทั้งสองฝ่ายในประเทศไทยสามารถจัดการเจรจาหาข้อตกลงได้ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ