หากดำเนินการได้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จะสามารถป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลดีต่อประเทศชาติในภาพรวม ซึ่งป.ป.ช.หวังว่าเมื่อรัฐสาหกิจนำยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปปฏิบัติแล้ว ตัวเลขค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการคอรัปชั่นของภาครัฐวิสาหกิจนั้นจะลดลง
นายภักดี กล่าวว่า ได้มีการแนะนำแนวทางที่รัฐวิสาหกิจควรไปดำเนินการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยควรจะเริ่มจากการแต่งตั้งบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีข้อเสนอแนะมาตรการไปยังฝ่ายบริหารของรัฐวิสาหกิจมาแล้ว เพราะที่ผ่านมาการแต่งตั้งกรรมการของบางหน่วยงานอาจเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น การเอาบุคคลในฝ่ายที่กำกับดูแลงานนั้นๆ เข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลเอง หรือการตั้งบุคคลจากองค์กรที่เป็นผู้ฟ้องคดีของรัฐเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจย่อมเกิดปัญหาขึ้นได้ เมื่อรัฐวิสาหกิจนั้นถูกฟ้องร้องเสียเอง
"ขณะนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง จึงคาดว่าบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาใหม่คงได้รับการแต่งตั้งตามหลักการที่ ป.ป.ช.เคยเสนอแนะไป โดยผู้ที่จะมาเป็นกรรมการจะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถทำประโยชน์ให้กับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ต้องพยายามคัดเลือกคนที่เหมาะสมจริงๆ เพื่อป้องกันการเข้าไปทุจริตเอื้อประโยชน์ของพวกตนเอง" นายภักดี กล่าว
ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.จะเสนอแนะแนวทางหรือข้อแนะนำในการแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ดูแลด้านเศรษฐกิจ ได้มอบนโยบายให้กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นนั้น นายภักดี กล่าวว่า คงไม่ต้องนำเสนอต่อ คสช.อีก เพราะข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ในครั้งนั้นเคยเป็นมาตรการที่ผ่านเป็นมติ ครม.แล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ดังนั้นคิดว่า สคร.จะนำเสนอต่อคณะผู้มีอำนาจด้วยเพื่อการพิจารณาปรับปรุงต่อไป
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวถึงการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สืบเนื่องจากการไต่สวนในโครงการรับจำนำข้าวว่า เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีอาญา โดยก่อนหน้านี้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงว่ามีความเสียหายเกี่ยวกับการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวอยู่ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท แต่ต่อมามีข่าวว่าในการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 3 มีความเสียหายเพิ่มมากขึ้นเกือบ 5 แสนล้านบาท การดำเนินการไต่สวนของ ป.ป.ช.จึงต้องทำต่อเนื่อง โดยจะตรวจสอบความเสียหายในช่วงระหว่างที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช ดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ว่าเป็นอย่างไร
"หากพบว่าบุคคลทั้ง 2 เกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น มีเหตุอันควรสงสัยก็สามารถตั้งอนุกรรมการไต่สวนในคดีอาญาเพิ่มได้ ทั้งนี้ ป.ป.ช.จึงจะนำความเสียหายทั้งหมดมาดูว่ามีใครบ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่อย่างไร เบื้องต้นจะมีการไต่สวนพยานที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 4 ปาก" นายสรรเสริญกล่าว
นายสรรเสริญ กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ครม.เป็นหน้าที่ของป.ป.ช. แม้อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติก็ตาม โดยจะดูข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินเป็นการทำงานในเชิงรุก ทั้งนี้ที่ผ่านมาการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินป.ป.ช.ใช้วิธีตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ผู้ยื่นแสดงมาเท่านั้น แต่ต่อไปนี้เรื่องบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่จะรอรับเอกสารอย่างเดียว ต้องออกตรวจในเชิงรุก แม้จะไม่มีการยื่นให้ป.ป.ช.ก็ตาม ถ้ามีข้อมูลข้อเท็จจริงเข้ามาสามารถที่จะไปดำเนินการไต่สวนได้
"การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไม่ได้กำหนดว่าจะตรวจสอบรัฐมนตรีคนใดบ้าง แต่ตรวจสอบในทุกโครงการของรัฐบาลหลังจากพ้นตำแหน่งไป ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข้าวเท่านั้น หากพบว่าในโครงการใดมีการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินในทางที่ไม่ชอบมาพากล ป.ป.ช.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ โดยสามารถตรวจสอบย้อนได้ตั้งแต่ ครม.ยิ่งลักษณ์ 1 เป็นต้นมา" นายสรรเสริญ กล่าว