ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวต้องตรวจสอบเพื่อให้ได้ความจริงว่า มีการขาดทุนถึง 500,000 ล้านบาทจริงหรือไม่ ในอนาคตจะขาดทุนเท่าไร ประเทศเสียหายอย่างไรบ้าง ข้าวหายไปจากสต๊อกจริงหรือไม่ ถ้าหายจริงไปอยู่ที่ไหนกับใครอย่างไร ใครเข้าข่ายมีความผิดบ้าง แต่คณะกรรมการฯ ไม่มีอำนาจตัดสินลงโทษใคร เพียงแค่ตีแผ่ข้อมูลและทำความกระจ่างในข้อสงสัยเหล่านี้เท่านั้น แต่ คสช.จะรับข้อเสนอหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของคสช.
"เราเห็นว่าเรื่องที่คสช.เร่งรัดจ่ายเงินค่าข้าวที่รัฐบาลก่อนค้างจ่ายให้ชาวนา เป็นเรื่องที่ดีมาก จึงควรจะตรวจสอบเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวด้วย เพราะเป็นเรื่องที่สังคมและชาวโลกสงสัยมาก และขณะนี้ คสช.มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารประเทศ สามารถขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กว่าจะได้ข้อมูลยากมาก จึงควรทำความกระจ่าง เพราะคนทั้งประเทศตั้งคำถาม แต่ไม่มีใครตอบได้" นายสมพล กล่าว
ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรฯ ได้ออกแถลงการณ์เสนอเรื่องเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นให้ คสช. พิจารณา 4 เรื่องประกอบด้วย 1.การแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันและการปราบปรามทุจริตคอรัปชัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตแม้ว่าบุคคลใดเข้ามามีอำนาจก็ตาม
2.การส่งเสริมและให้อำนาจองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตฯ เช่น ป.ป.ช., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระและมีประสิทธิภาพ 3.การส่งเสริมและสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และ 4.ปฎิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และนักการเมืองในระดับท้องถิ่นให้มีความโปร่งใส เพื่อให้ได้ผู้นำประเทศที่บริหารบ้านเมืองโดยยึดหลักธรรมาภิบาล
"แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในช่วงการรัฐประหาร แต่องค์กรได้ติดตามโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในโครงการ เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างพื้นฐานประเทศ 2 ล้านล้านบาท, โครงการรถเมล์เอ็นจีวี, การบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท เป็นต้น" นายประมนต์ กล่าว