การบริหารประเทศในห้วงเวลานี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 65.0 เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรมีคุณสมบัติ เป็นคนเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ และให้ความสำคัญกับการปฏิรูป รองลงมาร้อยละ 10.0 ควรเป็นคนประนีประนอมและเป็นที่ยอมรับทั้งฟาก กปปส. และ นปช. เมื่อถามถึงกรอบเวลาในการบริหารประเทศที่เหมาะสม ร้อยละ 41.7 เห็นว่าไม่ควรเกิน 1 ปี รองลงมาร้อยละ 20.0 เห็นว่าไม่ควรเกิน 6 เดือน
สำหรับประเด็นการปฏิรูปว่าควรมีตัวแทนจากภาคการเมืองหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์คิดเป็นสัดส่วนที่เท่ากันที่ร้อยละ 36.7 เห็นว่าควรมีตัวแทนจากภาคการเมืองโดยให้เหตุผลที่สำคัญว่า “นักการเมืองเป็นผู้รู้ปัญหาและผู้สร้างปัญหาในภาคปฏิบัติจึงต้องเลือกคนที่เป็นกลางและมีจำนวนไม่มาก หากขาดคนกลุ่มนี้อาจเกิดการไม่ยอมรับในภายหลัง" ส่วนที่เห็นว่าไม่ควรมีตัวแทนจากภาคการเมืองโดยให้เหตุผลว่า “ภาคการเมืองเป็นต้นเหตุของปัญหาสำคัญที่ทำให้ต้องมีการปฏิรูปประเทศ จึงไม่ควรมีทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นกลาง เพื่อความเป็นอิสระปราศจากอิทธิพลทางการเมือง ไม่มีการปกป้องผลประโยชน์ทางการเมือง"
ส่วนเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการให้มีการปฏิรูปมากที่สุด คือ ด้านการเมืองต้องการให้ปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ในทุกระดับ (ร้อยละ 41.5) ด้านเศรษฐกิจต้องการให้ปฏิรูประบบภาษี (ไม่ว่าจะเป็น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ กระจายความเจริญไปยังภูมิภาคให้มากขึ้น (ร้อยละ 29.6) ด้านสังคมต้องการให้ปฏิรูปการศึกษา โอกาสในการศึกษาที่เท่าเทียม พัฒนาบุคลากรทางศึกษา พัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ (ร้อยละ 34.5)
เมื่อถามถึงภาพประเทศไทยในจินตนาการที่คาดหวังให้เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปแล้วเสร็จ คือ อันดับ 1 ประเทศไทยไม่มีคอร์รัปชั่น ไม่มีระบบอุปถัมภ์ อันดับ 2 คนไทยรักใคร่ สามัคคี ปรองดอง อันดับ 3 ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ไม่มีนโยบายประชานิยมสุดโต่ง นักการเมืองมีคุณภาพ โดยนักเศรษฐศาสตร์มั่นใจว่าการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จร้อยละ 50.0 จากที่คาดหวังไว้
ส่วนสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์อยากบอกกับหัวหน้า คสช. ในประเด็นการปฏิรูป มีดังนี้ อันดับ 1 เป็นกำลังใจให้ ขอให้อดทน มั่นคง แน่วแน่ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ อันดับ 2 ต้องเข้าใจปัญหาที่จะปฏิรูป ต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง ปูพื้นฐานเรื่องการปฏิรูปให้มั่นคงเพื่อสานต่อในอนาคต อันดับ 3 ต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นให้ได้ สร้างค่านิยมรังเกียจการคอร์รัปชั่น
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจต่อจากนี้ไป นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 80.0 เห็นว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 6.7 เห็นว่าเศรษฐกิจน่าจะแย่ลงอีก