หัวหน้าคณะ คสช. กล่าวว่า ได้ลงนามอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ไว้แล้ว 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากงบประมาณรายจ่ายปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาท ประมาณการรายได้ 2.325 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 250,000 ล้านบาท โดยจัดสรรสำหรับเป็นรายจ่ายลงทุน 450,625 ล้านบาท สัดส่วน 17.5% ภายใต้คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัว 4% ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.57 เพื่อให้สอดรับกับการเข้ามาทำหน้าที่ใช้จ่ายงบประมาณปี 58 ที่จะเริ่มขึ้นในเดือน ต.ค.นี้
ดังนั้น จึงฝากนโยบายให้ข้าราชการทุกกระทรวงช่วยกันดำเนินการเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนและนานาชาติกลับคืนมาด้วยการจัดทำงบประมาณอย่างทั่วถึง ไม่สิ้นเปลือง ไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง ไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะ ดำเนินการอย่างรอบคอบโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เน้นคุณภาพ ลดการรั่วไหล และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน โดยให้ย้อนกลับไปดูว่าที่ผ่านมาดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือไม่
สำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่คสช.ดำเนินการอยู่ในขณะนี้หลายคนมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม เช่น การชะลอขึ้นภาษี ซึ่งที่จริงกำลังปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรม หรือการตรึงราคาก๊าซและราคาน้ำมันเป็นการขอความร่วมมือกับภาคเอกชน เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพราะการใช้มาตรการใด ๆ ก็ตามย่อมมีผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะรายได้ภาครัฐ และขณะนี้มีหลายสิ่งที่หลายคนเรียกร้องมา แต่การจะมีมาตรการใดก็ขึ้นกับความเหมาะสมและการทำความเข้าใจ
"ไม่อยากให้มองว่า คสช.คืนความสุขให้ประชาชน คืนจนสำลัก...การสั่งมาตรการต่าง ๆ ออกไปมีผลกระทบทั้งสิ้น ทุกคนเรียกร้องมามาก แต่ประเทศชาติจะไปตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน ภาษี คุณภาพชีวิต ต้องมองในทุกมิติ ถ้าทำมากไปก็จะเสียรายได้ของรัฐ"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
หัวหน้า คสช.กล่าวว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า คสช.เห็นชอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งวงเงินกว่า 3 ล้านล้านบาทนั้น ไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังไม่ได้มีการอนุมัติโครงการใด ๆ ทั้งสิ้น เงินลงทุนก็ยังไม่มี แต่เป็นความพยายามของคนบางคนปล่อยเรื่องนี้ออกมาเพื่อให้ประชาชนเกิดข้อเรียกร้อง ซึ่งจะทำให้ คสช.ทำงานได้ยากลำบาก สิ่งที่ คสช.ประกาศหรือคำสั่งเท่านั้นคือความชัดเจน
ส่วนโครงการบริหารจัดการน้ำนั้น เราก็มีความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม จุดใดยังมีความขัดแย้งอยู่ต้องยุติให้ได้โดยเร็ว การดำเนินโครงการด้านน้ำมีหลายกระทรวง ก็จะต้องมาหารือร่วมกัน ส่วนการจะกล่าวหาผู้ใดว่าผิดหรือถูกหรืออาจทุจริตนั้นจะต้องให้กระบวนการยุติธรรมไต่สวนออกมาให้ได้ข้อยุติ
"โดยส่วนตัวในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำก็จะพยายามใช้อำนาจ คสช.เท่าที่จำเป็น สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาอาจทำให้ทุกฝ่ายเสียขวัญกำลังใจ ซึ่งเราก็มีความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม จุดใดยังมีความขัดแย้งอยู่ต้องยุติให้ได้โดยเร็วเพื่อให้การดำเนินงานพัฒนามีความคืบหน้าต่อไป"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว