อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.มีแผนการปรับปรุงข้อกฎหมาย 2 แนวทาง คือ การปฎิรูปภายใน ป.ป.ช.และการแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมาย คาดว่าจะเสนอให้ คสช.พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า
นายวิชา กล่าวว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้เร่งแก้กฎหมายเรื่องการดำเนินคดีต่างๆ ให้ครอบคลุมภาคเอกชนมากขึ้น เช่น การที่เอกชนติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในการทุจริตคอรัปชั่น ผู้บริหารของบริษัทเอกชนดังกล่าวต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ในฐานะตัวการ หรือ ผู้บริหารมีส่วนเกี่ยวข้องในการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ เพื่อสร้างความยุติธรรม และเป็นกลางในการไต่สวนคดีต่างๆ โดยจะไม่เน้นแค่เพียงการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ด้วยการให้ ป.ป.ช.มีอำนาจในการไต่สวนและควบคุมตัวผู้กระทำความผิดได้มากขึ้น เนื่องจากทั่วโลกใช้กฎหมายลักษณะนี้ดำเนินการอยู่แล้ว
ทั้งนี้ นายวิชา กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังคงเดินหน้าการพิจารณาคดีต่างๆ ต่อ เพราะหากไม่ดำเนินการ จะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่นเดียวกับการพิจารณาคดีถอดถอน ส.ว.และส.ส.จำนวน 308 คน ก็ยังคงดำเนินการอยู่ จะไม่มีการยุติการพิจารณาคดีกลางคันเด็ดขาด เนื่องด้วยวุฒิสภาอยู่ในอำนาจควบคุมดูแลของ คสช.อยู่แล้ว เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีการรายงานเรื่องดังกล่าวไปให้สภานิติบัญญัติพิจารณา
“ยืนยันว่า ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนอย่างยุติธรรม และเสมอภาคมาโดยตลอด ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เช่น การดำเนินคดีอาญา เรื่องจำนำข้าว ป.ป.ช.ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นเอกสารและพยานบุคคลในการให้ถ้อยคำ และสอบเพิ่มเติม ขณะนี้ความคืบหน้าคดีดังกล่าว อยู่ระหว่าง ป.ป.ช.ชุดใหญ่จะพิจารณาพยานที่ขอเพิ่ม 8 ปาก ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้าหรือไม่" นายวิชา กล่าว