สืบเนื่องมาจากแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ.2556–2560) มีวัตถุประสงค์ในการกำหนดและชี้นำการพัฒนาเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วนในด้านกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และมุ่งเน้นการสร้างปัจจัยขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ประสานการขับเคลื่อนหลัก (Prime mover) แผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในระยะเวลา 5 ปีต่อไป เพราะฉะนั้นจากเดิมที่การดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะเป็นภารกิจหลักของสำนักงาน ป.ป.ช.แต่เพียงหน่วยงานเดียว ทิศทางในการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ จึงปรับเปลี่ยนไปเป็นการบูรณาการการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้งานป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีผลเป็นรูปธรรมและมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
นายสรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับการมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 โดยสำนักงบประมาณได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐนั้น เนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 มีระยะเวลากระชั้นชิดในการจัดทำรายละเอียดโครงการ สำนักงาน ป.ป.ช.ยินดีสนับสนุนในการเป็นหน่วยงานกลางเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐไปก่อน
และในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 เห็นควรมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและแนวทางการปฏิบัติราชการของสำนักงาน ป.ป.ท. และแนวทางดังกล่าวก็สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ.2556–2560) ด้วย