โดยคณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองติดตาม ตรวจสอบ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีการบิดเบือนยุยง ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งระงับ ยับยั้ง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารใด ๆ อันเป็นเท็จ หรือส่อไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน และสื่อสารมวลชนประเภทต่าง ๆ ให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ และการดำเนินการของ คสช. รวมทั้งเชิญบุคคล ผู้แทนหน่วยงาน ส่วนราชการ ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ตามความเหมาะสม
ประการสำคัญจัดให้มีคณะทำงานเพื่อติดตาม รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารทั้งภายในและภายนอกประเทศจากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุโทรทัศน์ เพื่อสรุปประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ คสช. รับทราบเป็นประจำทุกวัน และหากมีข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของ คสช. ให้รายงานข้อมูลข่าวสารต่อหัวหน้า คสช.ทราบทันที
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการจัดโครงสร้างคณะทำงานเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะ จำนวน 5 คณะ ได้แก่ 1. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อวิทยุ 2. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อโทรทัศน์ มีเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธาน 3. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสื่อสิ่งพิมพ์มีผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลเป็นประธาน 4. คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สื่อสังคมออนไลน์ Social Media มีปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) เป็นประธาน และคณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านต่างประเทศมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานคณะทำงาน