นิด้าโพลระบุคนส่วนใหญ่ไม่กังวล"สหรัฐ-อียู"ตอบโต้การทำรัฐประหารของไทย

ข่าวการเมือง Sunday June 29, 2014 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความกังวลใจของประชาชนต่อท่าทีของนานาชาติกับการทำรัฐประหารในประเทศไทย" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 มิถุนายน 2557

กรณีศึกษาจากประชาชนที่จบการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง กระจายทั่วทุกภูมิภาค และอาชีพ เกี่ยวกับความกังวลใจและความไว้วางใจต่อท่าทีนานาประเทศภายหลังการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค* จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความกังวลใจของประชาชนต่อท่าทีของสหรัฐอเมริกา (USA) ในการตอบโต้การทำรัฐประหารในประเทศไทยด้วยการระงับความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงและทางทหาร พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.96 ระบุว่า ไม่กังวลใจเลย รองลงมา ร้อยละ 18.78 ระบุว่า ค่อนข้างกังวลใจ ร้อยละ 16.47 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวลใจ มีเพียง ร้อยละ 8.55 ที่ระบุว่า กังวลใจมาก และ ร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความกังวลใจของประชาชนต่อท่าทีของสหภาพยุโรป (EU) ในการตอบโต้การทำรัฐประหารในประเทศไทยด้วยการระงับการลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศ และระงับการมาเยือนไทยของเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.24 ระบุว่า ไม่กังวลใจเลย รองลงมา ร้อยละ 21.74 ระบุว่า ค่อนข้างกังวลใจ ร้อยละ 15.75 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวลใจ มีเพียง ร้อยละ 10.95 ที่ระบุว่า กังวลใจมาก และ ร้อยละ 0.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความกังวลใจของประชาชนต่อการที่สหรัฐอเมริกา (USA) ปรับลดอันดับประเทศไทยสู่ระดับต่ำสุด ในรายงานการค้ามนุษย์ 2014 โดยให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศซีเรียและเกาหลีเหนือ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.93 ระบุว่า ไม่กังวลใจเลย รองลงมา ร้อยละ 27.10 ระบุว่า ค่อนข้างกังวลใจ ร้อยละ 19.90 ระบุว่า กังวลใจมาก ร้อยละ 13.19 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวลใจ และ ร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อประเทศหรือกลุ่มประเทศที่น่าไว้วางใจและเป็นมิตรกับประเทศไทยมากที่สุด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.09 ระบุว่า เป็นกลุ่มในประเทศอาเซียน รองลงมา ร้อยละ 32.69 ระบุว่า เป็นประเทศจีน ร้อยละ 11.91 ระบุว่า เป็นประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 3.12 ระบุว่า เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 1.84 ระบุว่า เป็นประเทศออสเตรเลีย ร้อยละ 1.20 ระบุว่า เป็นกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ร้อยละ 0.72 ระบุว่า เป็นประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ภูฏาน เกาหลี แคนาดา รัสเซีย และประเทศคู่ค้า ร้อยละ 1.12 ระบุว่า ไม่มีประเทศใดเลย ที่น่าไว้วางใจ ร้อยละ 6.31 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ