มาสเตอร์โพลชี้คนไทยฝันร้ายการเมือง-ปัญหาทุจริต หวังศก.ดีขึ้นในอีก 1 ปี

ข่าวการเมือง Sunday July 6, 2014 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รศ.ดร. เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานมาสเตอร์โพลล์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง สาธารณชนอยากเห็นอะไรและไม่อยากเห็นอะไรในอีก 1 ปีข้างหน้า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,158 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างถึงสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยล้มเหลวในการพัฒนานั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 82.4 ระบุเป็นความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ประชาชน อันเป็นฝันร้ายของประชาชนที่ยังคงเหลืออยู่ ในขณะที่ร้อยละ 80.6 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น

ร้อยละ 78.3 ระบุความล้มเหลวด้านการศึกษา ร้อยละ 62.7 ระบุความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 61.5 ระบุความไม่อยากยุ่งเกี่ยวเดือดร้อนของคนไทยกับปัญหาส่วนรวม ร้อยละ 59.3 ระบุความไม่มีวินัย ไม่รับผิดชอบ ไม่ทำเพื่อส่วนรวม และร้อยละ 7.9 ระบุอื่นๆ เช่น สังคมเสื่อม ผู้ใหญ่ในสังคมไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ซื้อสิทธิขายเสียง เป็นต้น

เมื่อถามถึงความอยากเห็นรัฐบาลที่โปร่งใส ประกาศโครงการลงทุนให้สาธารณชนรับทราบรายละเอียดแบบแกะรอยได้ว่า ใคร กลุ่มทุนใดได้เม็ดเงินไปเท่าไหร่ พัฒนาถึงมือประชาชนแต่ละพื้นที่เท่าไหร่ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 อยากเห็น ในขณะที่เพียงร้อยละ 8.7 ไม่อยากเห็น

นอกจากนี้ เมื่อถามถึง ความต้องการประเมินผลงานเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีผลต่อการโยกย้าย การจัดสรรงบประมาณ ให้คุณให้โทษโดยตรง เช่น หน่วยงานตำรวจ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่ว่าการอำเภอ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงาน เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่อย่างแท้จริง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.2 ระบุต้องการ ในขณะที่ร้อยละ 10.8 ระบุไม่ต้องการ

ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่สาธารณชนอยากเห็น สิ่งที่ดีกว่า ในอีก 1 ปีข้างหน้า ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.5 อยากเห็นเศรษฐกิจที่ดีกว่า โดยพบว่า แบบเดิมค่าครองชีพสูงเกินไป แบบเดิมคนรวยยิ่งรวยขึ้นคนจนยิ่งจนลง แบบเดิมค่าใช้จ่ายค่าพลังงานเชื้อเพลิงสูงเกินไป แบบเดิมผู้บริโภคเสียเปรียบ ขาดที่พึ่ง แบบเดิมสิทธิของผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครอง แบบเดิมมีปัญหาการกระจายรายได้และทรัพยากร แบบเดิมทำให้คนมีหนี้สินนอกระบบแบบเดิมหน่วยงานของรัฐคอยช่วยเหลือกลุ่มนายทุนมากกว่าผู้บริโภคทั่วไป เป็นต้น

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.9 อยากเห็นการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ดีกว่า โดยพบว่า แบบเดิมคนไทยยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถ้าตนเองได้ผลประโยชน์ แบบเดิมมีทุจริตคอรัปชั่นในทุกวงการ แบบเดิมคนไทยไม่อยากเดือดร้อน แบบเดิมนักการเมือง ข้าราชการ และพ่อค้าสมรู้ร่วมคิดคอรัปชั่น แบบเดิมกฎหมายไม่รุนแรง สาวไม่ถึงต้นตอ เป็นต้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 อยากเห็นประชาธิปไตยที่ดีกว่า โดยพบว่า แบบเดิมมีการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างกว้างขวาง แบบเดิมนักเลือกตั้งเข้ามาถอนทุนคืน แบบเดิมมีแต่นักการเมืองและเครือญาติหน้าเดิมสืบทอดอำนาจ แบบเดิมทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน แบบเดิมนักการเมืองเอื้อประโยชน์พวกพ้อง และแบบเดิมประเทศชาติถดถอย เป็นต้น

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.3 อยากเห็น การศึกษาที่ดีกว่า โดยพบว่า แบบเดิมคุณภาพการศึกษาไทยมีหลายมาตรฐาน แบบเดิมเด็กๆ ต้องเรียนพิเศษ พ่อแม่ไม่มีเวลาใกล้ชิดทำกิจกรรมครอบครัวกับลูกๆ แบบเดิมปิดกั้นโอกาสคนยากจน แบบเดิมเด็กๆ ไม่สนใจประวัติศาสตร์ แบบเดิมการศึกษาไม่ทำให้เด็กรักชาติรักแผ่นดิน แบบเดิมเด็กเยาวชนเลิกเรียนกลางคัน แบบเดิมเด็กไทยยกพวกตีกัน แบบเดิมปลูกฝังเด็กด้วยความรุนแรงด้วยการตบตีเด็ก แบบเดิมผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.2 อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ดีกว่า โดยพบว่า แบบเดิมคนไทยไม่รู้จะพึ่งใคร ต้องวิ่งเต้น ต้องมีเส้นสาย ขาดที่พึ่งในกระบวนการยุติธรรม แบบเดิมคนไทยต้องใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย แบบเดิมคนร้ายไม่กลัวความผิด แบบเดิมมีการค้ายาเสพติดในเรือนจำ เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อถามว่า อยากเห็น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลุยปราบโกงเรื่องอะไร โดยตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.7 ระบุอยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงจำนำข้าว รองลงมาหรือร้อยละ 81.5 ระบุลุยปราบโกงธุรกิจพลังงาน ร้อยละ 78.7 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงสัมปทาน ทำถนน ซ่อมทาง สะพาน อาคารหน่วยงานรัฐ ร้อยละ 68.9 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงการก่อสร้างสถานีตำรวจ ร้อยละ 67.2 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงภาษี ร้อยละ 65.4 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงซื้อขายตำแหน่ง ร้อยละ 63.3 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงส่วยเทศกิจ รีดไถผู้ประกอบการ มาเฟียตลาดนัด และร้อยละ 62.8 อยากเห็น คสช. ลุยปราบโกงข้อสอบ ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.6 ไม่อยากเห็นการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังกัน (Hate Speech)เพราะจะทำให้สังคมไทยแตกแยก ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายกลับมาอีก ทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ เป็นแบบอย่างไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นการใช้ความรุนแรงอย่างหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.8 ระบุถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปประเทศไทย ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้นที่ระบุยังไม่ถึงเวลา

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.4 เป็นหญิง ร้อยละ 47.6 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 8.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.1 อายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 30 – 39 ปี ร้อยละ 18.9 อายุระหว่าง 40–49 ปี และร้อยละ 31.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 68.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 31.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 31.9 ระบุอาชีพเกษตรกร /รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 23.6 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.4 ระบุเป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.4 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.1 เป็นแม่บ้าน /พ่อบ้าน /เกษียณอายุ ในขณะที่ร้อยละ 2.9 ระบุว่างงาน /ไม่ประกอบอาชีพ


แท็ก community   APP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ