นายบัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปขอนำเสนอแนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูปที่สำคัญใน 5 ประเด็น เพื่อการจัดตั้ง การทำงาน และการวางรากฐานสำหรับอนาคต สามารถสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น ลดความหวาดระแวง และนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางตรงได้ เพื่อสรุปความเห็น เสนอเป็นรูปแบบสภาปฏิรูป ทั้งที่มาของสมาชิกสภาปฏิรูป โดยเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปมีการหารือและระดมความคิดเห็นถึงแนวคิดหลักการสำคัญในการจัดตั้งสภาปฏิรูป หลักเกณฑ์คุณสมบัติและที่มาของผู้ที่เป็นสมาชิกในสภาปฏิรูป รวมถึงกระบวนการวิธีทำงานของสภาปฏิรูปและผลลัพธ์ของสภาปฏิรูปใน 1 ปี และทำให้กลไกสภาปฏิรูปทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
"เครือข่ายฯ เห็นว่า ควรเปิดให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ ซึ่งเป็นสิทธิที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 รวมทั้งให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องด้านการปฏิรูปสามารถเสนอร่างกฎหมายได้ เช่นคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" นายบุณฑูร กล่าว
เครือข่ายฯ เสนอว่าควรพิจารณาใช้กลไกการออกเสียงประชามติมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมการปฏิรูปและสร้างพันธะทางการเมืองในการปฏิรูปด้วย และควรให้ความสำคัญของการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปฏิรูป 5 เรื่อง ที่จะเป็นผลงานในขั้นต่ำของสภาปฏิรูปในช่วง 1 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญเรงด่วนและมีความรุนแรง ได้แก่ 1.การปฏิรูปการเมืองในมิติต่าง ๆ เรื่อง สถาบันทางการเมือง, กระบวนการเข้าสู่อำนาจ,การกำกับควบคุมการใช้อำนาจ,การตรวจสอบการใช้อำนาจ,การกระจายอำนาจการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชนและการปฏิรูปพรรคความมั่นคง
2.การปฏิรูประบบราชการ เพื่อสร้างเสริมระบบธรรมาภิบาล สร้างภูมิคุ้มกันการแทรกแซงทางการเมืองและเป็นกลไกที่สนับสนุนการปฏิรูปด้วย 3.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งในส่วนของตำรวจ,อัยการและศาล 4.การปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และ 5.การต่อต้านคอรัปชั่น โดยต้องมีการทำให้กลไกสภาปฏิรูปที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
"การปฏิรูปต้องเกิดขึ้นในทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นไปถึงจังหวัด ควรเปิดพื้นที่เวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นประชาชนจากทุกสี ทุกกลุ่มให้เข้าร่วมเสนอความเห็นในการร่างกฎหมายครั้งนี้ เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และให้ประชาชนเป็นผู้ร่วมร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2558 เพื่อเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง โดยต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมให้เกิดการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้" นายบัณฑูร กล่าว
เครือข่ายฯ ยังเห็นว่า ควรเปิดเวทีเพื่อที่จะเสนอเรื่องการร่างและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขกฎหมาย เสนอไปยังสภาปฏิรูปเพื่อบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะให้การปฏิรูปเกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปนั้น จะทำงานเป็นเหมือนองค์กรคู่ขนานไปกับสภาปฏิรูป ในการรวบรวมข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน 77 จังหวัด และร่วมวิพากษ์วิจารณ์ สภาปฏิรูปอีกทางหนึ่ง
ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เสนอให้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากเครือข่ายอื่นๆมาประกอบการประมวลผล เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่มาจากฐานรากของประเทศ โดยการทำงานต้องมีความต่อเนื่อง ภายใต้ระยะเวลาที่พอดี ซึ่งเครือข่ายฯ มีแนวคิดในการสร้างพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างแท้จริง อีกทั้งมีกระบวนการทำงานที่คู่ขนานไปกับคณะทำงานปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งขาติ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานปฏิรูประหว่างภาคประชาชนและสภาปฏิรูป รวมถึงเฝ้าระวังกลไกปฏิรูประดับชาติให้มีประสิทธิภาพ
ด้านนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกระแสข่าวร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 อาจไม่มีการทำประชามติขอความเห็นจากประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ว่า ส่วนตัวเห็นควรให้ทำประชามติอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นฐานรองรับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ และเพื่อลดความเสี่ยงด้านการยอมรับของประชาชน พร้อมเสนอให้สภาปฏิรูปเปิดให้มีการลงทะเบียนประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วม เพื่อจัดทำประชามติ โดยแสดงความคิดเห็นผ่านทางโทรศัพท์
ทั้งนี้ นายโคทมปฏิเสธที่จะเข้าร่วมทำงานกับสภาปฏิรูป เพราะเห็นว่าตนเองอาจไม่เหมาะสม แต่ขอทำหน้าที่ในส่วนของภาคประชาชนคู่ขนานไปกับสภาปฏิรูปมากกว่า เพราะจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์และเสนอข้อคิดเห็นต่อสภาปฏิรูปได้เต็มที่