คสช.ผ่าตัดโครงสร้างตำรวจ ปลัดกลาโหมนั่ง กตช.-กตร. พร้อมจัดลำดับอาวุโสแต่งตั้งโยกย้าย

ข่าวการเมือง Tuesday July 15, 2014 09:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกำประกาศฉบับที่ 87/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยที่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับการดูแลความสงบเรียบร้อยในการควบคุมอาชญากรรม การจราจร การมีและใช้อาวุธปืนเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีเอกภาพ ในระบบการปฏิบัติงานและในการบังคับใช้กฎหมาย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมกับค่าทำการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจกรรมอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้"

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานจราจร กับออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้"

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและเจ้าหน้าที่อื่น และออกกฏกระทรวงในเรื่องต่อไปนี้ คือ

(1) จำกัดชนิดและจำนวนอาวุธปืนของกระทรวงทบวงกรมอื่น นอกจากของราชการทหารและตำรวจหรือหน่วยราชการตามมาตรา 5 วรรคสอง

(2) วางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาต

(3) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมซึ่งต้องไม่เกิดอัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

(4) กิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ในส่วนที่เกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง (1) ตามมาตรา 5 วรรคสอง และตามมาตรา 55 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมร่วมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงร่วมกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย"

ข้อ 4 ให้บรรดา กฎกระทรวง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่ออกตามพระราชบัญญัติตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ คสช.ยังออกประกาศฉบับที่ 88/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติเพื่อปรับปรุงระบบการบริหารบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เกิดประสิทธิภาพมีความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านความมั่นคง และการอำนวยความยุติธรรม อันจะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยส่วนรวม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 17 " ให้ ก.ต.ช. ประกอบด้วย

(1) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ

(2) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ

(3) ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสอง คน

ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ประธานกรรมการโดยคำแนะนำของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรีขึ้นไปจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(3) พิจารณาดำเนินการคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อดำเนินการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ“

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ มาตรา 30 ให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.ตร." ประกอบด้วย

(1)นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ

(2) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ

(3) เลขานุการ ก .พ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง

(4) กรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการเลือกจากวุฒิสภาจำนวนสองคน

ให้ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นเลขานุการและรองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นผู้ช่วยเลขานุการ"

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (1) ของมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (1) ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติหรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วเสนอ ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง"

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 54 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่มาตรา 44 (5) ลงมาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (5) และ (6) ให้ดำเนินการดังนี้

(ก) ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

(ข) ในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ผู้บัญชาการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการนั้นเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเสนอ ก.ตร. ให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

(2) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (7) และ (8) ให้ดำเนินการดังนี้

(ก)ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง

(ข)ในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการนั้นเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเสนอ ก.ตร. ให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้ผู้บัญชาการเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง

(3) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (9) ลงมาในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งแต่งตั้งส่วนในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ผู้บัญชาการเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง

ในกรณีเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งจากส่วนราชการหนึ่งไปอีกส่วนราชการหนึ่งให้หัวหน้าส่วนราชการทำความตกลงกัน แล้วให้หัวหน้าส่วนราชการที่จะประสงค์จะแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตาม (1)(2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี"

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 33 ถึงมาตรา 41 มาตรา 55 และมาตรา 57 วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

ข้อ 7 ให้ ก.ต.ช. และ ก.ตร. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง

ข้อ 8 ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 17 (4) ให้ ก.ต.ช. ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ

ข้อ 9 ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 30 (4) ให้ ก.ตร. ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ เลขาธิการ ก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง

ข้อ 10 การใดอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่การดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ให้ ก.ต.ช. ตามข้อ 1 หรือ ก.ตร. ตามข้อ 3 แล้วแต่กรณี พิจารณาดำเนินการตามสมควร

รวมทั้ง ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 89/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพื่อให้การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคล ตลอดจนประโยชน์ของทางราชการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 เพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งและโยกย้าย ให้จัดลำดับอาวุโส ดังต่อไปนี้

(1) ผู้มียศสูงกว่า (ไม่รวมถึงยศที่ได้รับจากการแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ) เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า

(2) ถ้ามียศเท่ากัน ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับนั้นในกรมตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาตินานกว่า เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า

(3) ถ้าดำรงตำแหน่งตาม (2) นานเท่ากัน ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับถัดลงไปนานกว่าตามลำดับจนถึงตำแหน่งระดับรองสารวัตร เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า

ตำแหน่งถัดลงไปให้หมายความรวมถึงตำแหน่งระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการและสารวัตรใหญ่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2521 ด้วย

(4) ถ้าดำรงตำแหน่งระดับถัดลงไปตาม (3) นานเท่ากัน ให้ผู้ที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรนานกว่า เป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า

(5) ถ้ามีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งชั้นสัญญาบัตรนานเท่ากัน ให้ผู้ที่มีอายุมากกว่าเป็นผู้มีลำดับอาวุโสสูงกว่า

สำหรับข้าราชการตำรวจที่ถูกประจำหรือสำรองราชการในระดับตำแหน่งใด ให้ถือว่ายังคงดำรงตำแหน่งระดับนั้นตลอดระยะเวลาที่ประจำหรือสำรองราชการ

ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งให้หมายความรวมถึงระยะเวลาการปฏิบัติงานเป็นทวีคูณของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาการปฏิบัติงานเป็นทวีคูณของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมติ ก.ตร. ในการประขุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ในระดับตำแหน่งนั้นๆ ด้วย

ข้อ 2 การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามประกาศนี้ มิให้นำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรวมตั้งแต่ระดับรองสารวัตรตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ สารวัตร ถึงจเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549 มาใช้บังคับ ทั้งนี้จนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎ ก.ตร. หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ