(เพิ่มเติม) "ยิ่งลักษณ์"แถลงป.ป.ช.รวบรัดคดี-2 มาตรฐาน ยันกลับไทยหลังไปตปท.

ข่าวการเมือง Friday July 18, 2014 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) วานนี้มีมติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินคดีในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนส่งผลให้เกิดการทุจริตโครงการระบายข้าวและการรับจำนำข้าวว่า ในการปฏิบัติของ ป.ป.ช.เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ แล้วเห็นว่า คดีนี้มีพฤติการณ์รวบรัดเป็นกรณีพิเศษ และหากเทียบกับการดำเนินคดีโครงการประกันราคาข้าว, คดี ปรส., โครงการทุจริตโรงพักทั่วประเทศ ป.ป.ช.กลับไม่มีความคืบหน้า ถือว่าไม่ได้มีบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน

ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงวันที่ 20 ก.ค.-10 ส.ค.นี้เป็นเรื่องส่วนตัวที่วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเรื่องทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวเมื่อวานนี้ และการไปต่างประเทศครั้งนี้ก็จะเดินทางกลับประเทศไทยตามปกติในช่วงเวลาที่ได้แจงต่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) แล้ว

"กระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นไปตามหลักนิติธรรมสากลหรือไม่ เพราะมองว่าเป็นการพิจารณาที่เร่งรีบ รวบรัด โดยแจ้งข้อกล่าวใช้เวลาเพียงแค่ 21 วัน และหลังจากนั้นก็ชี้มูลความผิดอาญาต่อดิฉัน ภายใน 140 วันซึ่ง ป.ป.ช.ไม่เคยปฏิบัติกับคดีอื่นๆ ที่ดำเนินการกับนักการเมืองเช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อดิฉัน เมื่อเทียบเคียงกับการดำเนินคดีกับการโครงการประกันราคาข้าวที่ ป.ป.ช.ใช้เวลาในการดำเนินการนานไม่น้อยกว่า 4 ปี, คดี ปรส.ที่ล้าช้า, โครงการทุจริตโรงพักทั่วประเทศ ป.ป.ช. กลับไม่มีความคืบหน้า อันถือว่ามิได้มีบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

การปฏิบัติของ ป.ป.ช. เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ ที่เห็นว่าคดีนี้มีพฤติการณ์รวบรัดเป็นกรณีพิเศษ เช่น เลือกรับฟังพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง, ตัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีเสนอพยานบุคคลที่เป็นส่วนสาระสำคัญ, ไม่รอผลการพิสูจน์เรื่องสต็อกข้าวให้เป็นที่สิ้นสุด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องสต็อกข้าว ทั้งๆ ที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมสังเกตการณ์แล้ว, ไม่ไต่สวนในข้อเท็จจริง กรณีการลงบันทึกบัญชีที่ข้อแย้งและแตกต่างกันของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี และคณะกรรมการ กขช.ให้เป็นที่สิ้นสุด, กรณีไม่พิจารณาการที่ตนเองคัดค้านนาย วิชา รวม 3 ครั้ง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายระดับประเทศ นายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร เป็นเพียงผู้กำกับดูแลเท่านั้น ส่วนในระดับปฏิบัติการนั้นเป็นการทำงานของหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน แต่ในข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. กลับฟังความข้างเดียว ในขณะที่ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเห็นไม่ตรงกันในข้อเท็จจริง

"การแถลงข่าวของ ป.ป.ช.ต่อสาธารณะที่ผ่านมายืนยันว่า คดีในเรื่องระบายข้าวไม่เกี่ยวข้องกับดิฉัน ทำให้ไม่ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาต่อสู้และหักล้าง แต่ในข้อวินิจฉัยในการชี้มูลกลับนำข้อเท็จจริงในคดีระบายข้าวมาชี้มูลความผิดกับดิฉันด้วย" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

อดีตนายกรับมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเองพยายามชี้แจงและร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวน และสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและเป็นธรรม แต่ ป.ป.ช. ปฏิเสธมาโดยตลอด ทั้งที่ข้อเท็จจริงอีกหลายเรื่อง เช่น ข้าวเสื่อมสภาพและข้าวหาย หน่วยงานที่ควบคุมดูแลสต็อกข้าว ทั้งองค์การคลังสินค้า(อ.ค.ส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ได้ทำสัญญาต่างๆ กับเจ้าของคลังสินค้า และบริษัทประกัน รับผิดชอบค่าเสียหาย หากเกิดกรณีข้าวสูญหาย และการเสื่อมสภาพข้าวที่ผิดปกติธรรมชาติ

"การกล่าวอ้างเรื่องรัฐมีความเสียหายจากข้าวหาย และข้าวเสื่อมคุณภาพ จึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อดิฉันในฐานะผู้ถูกกล่าวหา" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นอกจากนี้ การกล่าวหาและการไต่สวนของ ป.ป.ช.ได้นำพยานหลักฐานและไต่สวนพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง และเลือกที่จะรับฟังพยานหลักฐานหรือไม่ ในขณะที่ตนเองได้พยายามเสนอพยานหลักฐานต่างๆ แต่ ป.ป.ช.กลับละเลย และปฏิเสธที่จะไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ตนเองจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะหนีคดีต่างๆนั้น ขอยืนยันว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางส่วนตัว และมีกำหนดการไปกลับที่ชัดเจนและมีการเตรียมการล่วงหน้าแล้วก่อนที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอย่างเร่งด่วน

"วันนี้ดิฉันเป็นราษฎรเต็มขั้นแล้วควรจะมีสิทธิเสรีภาพเยี่ยงประชาชนคนไทยทั่วไป ขอยืนยันว่า จะไม่ทิ้งพี่น้องประชาชนคนไทย และพร้อมจะกลับมาสู่ประเทศไทย" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ด้านนายพิชิต ชื่นบาน ทีมทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึง แนวทางการต่อสู้ในคดีความหลังจากนี้ว่า คดีความนี้เหมือนคดีความอื่นๆ โดยให้ยึดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาความผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 10 และ มาตรา 11 ซึ่งทางป.ป.ช.จะต้องส่งรายงานสำนวนให้อัยการสูงสุดภายใน 14 วัน และถือเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดที่จะไต่สวนสำนวนว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่ หากพบว่ายังไม่สมบูรณ์ อัยการสูงสุดจะแจ้งกลับมายังป.ป.ช. และมีตั้งกรรมการร่วมของแต่ละฝ่ายเพื่อพิจารณาไต่สวน หรือมีการเรียกสอบพยานเพิ่มเติม ซึ่งทางทีมทนายจะมีการเตรียมข้อมูลตรงส่วนนี้ไว้ ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่า ระยะเวลาการพิจารณาคดีความจะแล้วเสร็จได้เมื่อไหร่

ทั้งนี้ ในส่วนกำหนดการเดินทางไปต่างประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น นายพิชิต ชี้แจงว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องคดีความเพราะในวันนี้เรื่องคดีความยังไม่อยู่ในอำนาจที่อัยการสูงสุดจะพิจารณา และยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าคดีความจะนำไปสู่ศาลฏีกาและการเดินทางไปต่างประเทศก็เป็นความตั้งใจของอดีตนายกรัญมนตรีที่ต้องการพาบุตรชายไปเที่ยวต่างประเทศตามคำร้องขอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ