ขณะที่การจัดหาตลาดต่างประเทศ ได้กำหนดให้มีความชัดเจนขึ้นในเรื่องการกำหนดมาตรฐาน เช่น ข้าวมาตรฐานสูง กลาง หรือข้าวที่อยู่ในเกรดต่ำ เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าตกต่ำ ทั้งระบบ โดยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับตลาดต่างประเทศ บริษัทใดหากไม่ทำตามกติกา จะถูกขึ้นบัญชีห้ามซื้อขายอีกต่อไป และจะประกาศให้สังคมรับรู้โดยทั่วกัน
สำหรับการตรวจสอบข้าวตามโกดังสินค้า และการตรวจสอบข้อเท็จจริงของบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งการระบายข้าวในประเทศ และต่างประเทศนั้น ได้ตรวจสอบความถูกต้องและพบว่ามีความไม่ชอบมาพากลอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่จำนวนข้าวไม่ครบในบางโกดัง คุณภาพข้าวเสียหายจากการเก็บรักษา การขายข้าวและรับซื้อข้าวจากบริษัทที่ไม่มีมาตรฐาน หรือไม่มีความโปร่งใส Surveyor ไม่ได้มาตรฐาน หรืออื่นๆ
"เหล่านี้ คสช.กำลังนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอาจจะเป็นแพ่งหรืออาญา ซึ่งแล้วแต่ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป สำหรับข้าวที่มีคุณภาพก็จะทยอยระบายทั้งในและต่างประเทศในจำนวนที่เหมาะสม ไม่ให้ราคาตกต่ำและให้มีการแข่งขันโดยเสรี ขอให้ติดตามการระบายข้าวในโอกาสต่อไป" หัวหน้า คสช.ระบุ
ทั้งนี้ ความคืบหน้าการตรวจสอบคลังสินค้าโกดังข้าว ระหว่างวันที่ 3-8 ก.ค.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคกลางตรวจสอบไปแล้ว 48 จาก 653 คลัง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 194 จาก 309 ภาคเหนือ 92 จาก 767 ภาคใต้ 9 จาก 58 จะเห็นได้ว่าโกดังข้าวมีจำนวนมาก เราใช้ชุดในการตรวจสอบ 100 กว่าชุด ปัจจุบันเร่งดำเนินการอยู่ตามลำดับ จากการตรวจสอบด้วยตาเปล่าพบสภาพข้าวปกติ 262 แห่ง และข้าวผิดปกติ 65 แห่ง จาก 5 สาเหตุหลัก ได้แก่ ข้าวเสื่อม 20 แห่ง ข้าวเป็นสีเหลืองขุ่น 17 ข้าวไม่ตรงตามบัญชี 6 แห่ง ข้าวปลอมปนอีก 10 แห่ง มีมอดไรสิ่งเจือปน 12 แห่ง ก็ยังมีเป็นจำนวนมากที่ต้องตรวจสอบในระยะต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝนมาระยะหนึ่งแล้ว หลายพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงน้ำป่าไหลหลาก ฝนแล้ง น้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อย พื้นที่แห้งแล้งได้มีการสั่งการในเรื่องการจัดทำฝนเทียมในพื้นที่เสี่ยงทางตอนเหนือ โดยกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความชื้นในอากาศด้วย และได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที โดยปัจจุบันกองทัพภาคที่ 4 จัดกำลังพลเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ จ.ระนอง เมื่อ 12-13 ก.ค.57 ที่ผ่านมา
หัวหน้า คสช.กล่าวถึงกรณีที่มีการแอบอ้าง คสช.ในการเข้ามาจัดซื้อจัดจ้าง ในโครงการของรัฐ เช่น เรื่องบริหารจัดการน้ำ การขุดลอกคูคลอง หรือการทำกิจการอื่นใดก็ดีของทุกกระทรวง ทบวง กรม ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นนั้น คสช.ยืนยันว่า ไม่ได้มอบหมายใครไปดำเนินการทั้งสิ้น อย่าให้ใครไปแอบอ้างผลประโยชน์โดยเด็ดขาด ขอให้แจ้ง คสช.ทันทีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
"ปัจจุบันมีข่าวว่าการก่อสร้างในท้องถิ่นนั้น มีนายหน้าไปเพื่อจะเรียกร้องผลประโยชน์ และก็บวกให้ คสช.ด้วย คสช. ไม่ได้ต้องการเงินแม้แต่บาทเดียว เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อ ให้กระทรวงมหาดไทยจัดเจ้าหน้าที่ ผู้ตรวจสอบอะไรต่าง ๆ ไปดำเนินการตรวจสอบ และให้มีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ" พล.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนการดำเนินการในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ในส่วนที่เป็นคดีความนั้นก็ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่เนื่องจากมีคดีที่คงค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก คสช. ได้มอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อคดีความการทุจริตให้ได้ก่อนที่จะสิ้นสุดอายุคดีความ เพื่อป้องกันผู้ที่ทุจริตหลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของการวางแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ได้มอบหมายให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ร่วมกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย ได้พิจารณานำมาตรฐานการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นสากลมาใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ โดยจะให้เริ่มจากโครงการการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2
นอกจากนี้ คตร.ได้ทำการตรวจสอบโครงการต่างๆ และได้พิจาณาทบทวนถึงความคุ้มค่า ความจำเป็นในการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน เช่น การจ่ายเงินตอบแทนในการประชุมของส่วนราชการ(รัฐสภา) คณะกรรมการของคณะกรรมาธิการต่างๆ สิทธิประโยชน์ของข้าราชการการเมือง การก่อสร้างอาคารของรัฐที่อาจไม่ได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า ซึ่งการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น เป็นหนึ่งในหัวข้อที่จะนำเข้าไปพิจารณาในสภาปฏิรูปเพื่อให้ประเทศไทยปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างถาวรต่อไป