เนื้อหารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) ประกอบด้วย 48 มาตรา โดยกำหนดให้มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา โดยมีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 220 คน ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากหลากหลายอาชีพจากทุกภาคส่วน อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ไม่มีลักษณะต้องห้าม 9 ประการ และห้ามเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือรัฐมนตรีในคราวเดียวกัน
ส่วนการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติที่จะศึกษาการปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย โดยมีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 250 คน ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากหลากหลายอาชีพจากทุกภาคส่วน อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ไม่มีลักษณะต้องห้าม 8 ประการ และห้ามเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือรัฐมนตรีในคราวเดียวกัน
สำหรับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 3 ปีก่อนได้รับแต่งตั้ง ไม่มีลักษณะต้องห้าม 9 ประการ ไม่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ,สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ,กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ,สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น,ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ,ผู้พิพากษาหรือตุลาการ,อัยการ,กรรมการการเลือกตั้ง,ผู้ตรวจการแผ่นดิน, กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ,กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน,ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน,กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
และการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน ซึ่งประธานฯ มาจาก คสช.เสนอ ส่วนกรรมการที่เหลืออีก 35 คนนั้นมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ 20 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และ คสช.เสนอฝ่ายละ 5 คน ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ไม่มีลักษณะต้องห้าม 8 ประการ ห้ามเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญปี 50 และห้ามดำเรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปีหลังพ้นตำแหน่ง โดยให้ดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และให้คงอำนาจประกาศ-คำสั่ง คสช.ไว้ต่อไป
นอกจากนั้น ในมาตรา 44 กำหนดอำนาจหัวหน้า คสช.สั่งการ ทุกด้านไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้เป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวให้มีการรายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
ขณะที่มาตราสุดท้าย(มาตรา 48) กำหนดให้มีการนิรโทษกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ