นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. กล่าวว่า การเริ่มต้นประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ถือว่าเข้าสู่ Road Map ในขั้นที่ 2 โดยคาดว่าจากนี้ไปในระยะเวลาบวกลบประมาณ 1 ปี จะเป็นช่วงของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือฉบับที่ 20 ให้เกิดขึ้นในอีกไม่นานนับจากนี้ ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จ การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ของ Road Map คสช.
"เชื่อว่าเวลา 1 ปีนับจากนี้ จะสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่ค้างคา และที่เป็นชนวนความขัดแย้งได้เป็นผลสำเร็จในระดับหนึ่ง" นายวิษณุ กล่าว พร้อมระบุว่า เพื่อไม่ให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาเกิดความสูญเปล่านั้น จึงเป็นสาเหตุให้กฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับที่ 19 นี้จำเป็นจะต้องมีการวางหลักการที่เข้มงวดมากขึ้น
ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ คสช.ที่ยังคงอยู่ต่อไป ตามมาตรา 44 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น นายวิษณุ ยืนยันว่า คสช.จะมีอำนาจหน้าที่ในการแบ่งเบาภาระด้านความมั่นคงให้แก่คณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างไม่กังวลกับปัญหาที่อาจจะแทรกเข้ามาในช่วงระยะ 1 ปีจากนี้ แต่หากเกิดสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างมาก คสช.ก็มีหน้าที่ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 46 ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจที่นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญกำหนด แต่ยืนยันว่า คสช.ไม่มีอำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี และ คสช.ไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาคณะรัฐมนตรีหรือข้าราชการประจำแต่อย่างใด
ทั้งนี้ คสช.จะยังทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในขณะที่คณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้จะทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับหน้าที่ต่อ
"ที่สื่อไปพาดหัวว่า คสช.มีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการนั้นไม่เป็นความจริง มีแต่เพียงอำนาจพิเศษตามมาตร 46 คือ ในกรณีจำเป็น ถ้าจะต้องใช้อำนาจเพื่อการสร้างสรร ไม่ใช่ใช้เพื่อการกำหราบปราบปรามอย่างเดียว คสช.อาจจะใช้อำนาจพิเศษนี้ได้ อำนาจนี้คงไม่ได้ใช้บ่อยๆ หรือพร่ำเพรื่อ คณะที่ยึดอำนาจในอดีตมีอำนาจนี้ทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ไม่ได้ปรากฎว่าได้ใช้ทุกยุคทุกสมัย และใช้ในยามที่ไม่อาจใช้ในกระบวนการปกติได้เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้ในวิธีการอื่นใดนอกรัฐธรรมนูญได้อีก ที่สำคัญคือใช้เพื่อการสร้างสรร และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่ ครม.เองอาจใช้ลำบาก เพราะติดขัดในข้อกฎหมาย" นายวิษณุ กล่าว
ที่ปรึกษา คสช.ยังกล่าวด้วยว่า กรณีไม่มีเรื่องใดที่อยู่ในบทบัญญัติทั้ง 48 มาตรา ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ก็ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เพิ่มเติมรายละเอียดที่สำคัญลงไปเพื่อป้องกันปัญหาการตีความในเรื่องของกรณีการเป็นประเพณีการปกครองหรือไม่นั้น จึงได้ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือให้คำปรึกษาล่วงหน้าได้ ถ้าศาลเห็นว่าเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำได้ก็จึงค่อยดำเนินการ
ส่วนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรีนั้น นายวิษณุ ระบุว่า การตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังคงเป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แม้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รองรับอยู่ เพราะฉะนั้นกลไกการตรวจสอบทั้งหลายยังมีอยู่ต่อไป ส่วนของ สนช.และ สปช.ที่ยังไม่มีการระบุในกฎหมายที่มีอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.มีอำนาจในการกำหนดตำแหน่งเหล่านั้นเพิ่มตามความจำเป็นได้
ขณะที่บทบัญญัติในมาตรา 48 คุ้มครองการกระทำของ คสช.เกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครอง ไม่ได้มีเนื้อหาครอบคลุมความผิดของบุคคลอื่น เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จนอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างความปรองดองนั้น นายวิษณุ กล่าวตอบว่า เนื้อหาที่สำคัญของมาตรา 48 คือช่วงที่กล่าวว่า "หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย..." แต่ไม่ได้พูดว่าที่แล้วมา คสช.ทำผิดกฎหมาย เพราะเมื่อมีความเป็นรัฏฐาธิปัตย์สิ่งที่กระทำไปนั้นก็ไม่ผิด แต่ที่ต้องระบุไว้ก็เพราะอาจมีบางฝ่ายมองว่า คสช.ทำผิดกฎหมาย แล้วนำไปสู่การฟ้องร้อง แทนที่จะต้องเสียเวลาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงบอกไว้ในมาตรานี้เพื่อตัดปัญหา
"จะกล่าวว่าเป็นบทนิรโทษกรรมก็ได้ แต่เป็นความจำเป็นที่เป็นแบบอย่างของการเขียนรัฐธรรมนูญภายหลังการยึดอำนาจทุกครั้งตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา หากไม่เขียนไว้ก็จะเกิดการจองล้างจองผลาญกันไม่จบสิ้น" นายวิษณุ กล่าว
สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมทางการเมือง หรือผู้ที่ต่อต้าน คสช.และกระทำผิดกฎอัยการศึกนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพูดถึงเพียงในส่วนของ คสช.และบุคคลที่ได้รับคำสั่งจาก คสช.ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่เข้าข่ายนั้นยังไม่ได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ ส่วนจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่อย่างไรก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องไปตรากฎหมายในอนาคต
นายวิษณุ ยังชี้แจงถึงมาตรา 19 วรรค 3 ตีความว่าให้อำนาจ คสช.ในการเสนอปลดนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ว่า ตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านมากระบวนการถอดถอนนายกฯ ได้ให้ ส.ส.เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนที่จะลงมติ แต่ครั้งนี้เมื่อ สนช.มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ก็สมควรมีอำนาจในการถอดถอนด้วย แต่หากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนที่ผ่านมา สุดท้ายหากที่ประชุมลงมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรีก็เกรงว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีเหตุจำเป็น จึงกำหนดให้ คสช.มีอำนาจยื่นญัตติเสนอแนะ สนช.ว่าสมควรที่จะปรับเปลี่ยนผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วให้ สนช.เปิดอภิปรายก่อนที่จะลงมติอีกครั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ สนช.
"คสช.ทุบโต๊ะเปรี้ยงปลดนายกฯ เองไม่ได้ และญัตติถอดถอนนายกฯ เริ่มจาก สนช.ไม่ได้ ต้องให้ คสช.เป็นผู้เสนอแนะ อย่างไรก็ดี สนช.ก็ไม่จำเป็นต้องรับลูกก็ได้"นายวิษณุ กล่าว
เหตุผลที่ยังไม่บรรจุขั้นตอนประชามติไว้ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น เป็นเพราะหากกำหนดหรือบังคับว่าต้องทำประชามติ อาจทำให้ใช้เวลายืดยาวเนิ่นนานออกไป ส่งผลกระบวนการให้ไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปีที่กำหนด และอาจจะต้องใช้เวลาอีก 4-6 เดือนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะบังคับใช้ได้ ดังนั้นจึงไม่ได้กำหนดไว้ แต่จะทำประชามติหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม อีกทั้งบรรยากาศปรองดองยังไม่เกิดขึ้น การทำประชามติอาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมากกว่า สุดท้ายขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันของรัฐบาล คสช. และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญด้วย
นายวิษณุ กล่าวว่า มีแนวคิดที่จะเสนอให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวกับการห้ามความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถเปิดประชุมและเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ามาร่วมเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพราะหากใม่ปลดล็อคตรงนี้ ก็จะไม่มีตัวแทนของฝ่ายการเมืองเข้ามาในกระบวนการปฏิรูปประเทศ ส่วนองค์กรอิสระหลายหน่วยงานจะยังคงไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะหากยุบหรือเปลี่ยนแปลงบางองค์กร อาจจะทำให้มีการมองว่าเป็นแผนการที่จะล้มคดีที่ยังค้างอยู่
"ให้สังเกตดูว่า คสช.จะพยายามไม่ไปแตะอะไรที่มีอยู่เกินความจำเป็น ซึ่งเราก็ต้องก็เคารพเขา เพราะเขาอยู่มาอย่างนั้น แต่หากจะล้มก็ไม่ยาก สามารถออกประกาศฉบับเดียวก็ล้มได้ แต่จะถูกข้อครหาว่าเป็นการช่วยกัน อย่างป.ป.ช.ที่ยังมีคดีค้างอยู่ 20,000 คดี ถ้าล้มจะทำยังไงกับคดีที่ค้าง เราก็เห็นว่าคนที่เขาทำงานนั้นก็มี" นายวิษณุ กล่าว
ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม แสดงความเห็นส่วนตัวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะไม่มีคุณสมบัติใดบกพร่อง และตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาก็สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี
"ท่านไม่มีคุณสมบัติใดบกพร่อง ช่วง 2 เดือนที่ท่านนั่งหัวโต๊ะบริหารงานทุกกระทรวงก็เรียบร้อยดี" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า หาก คสช.จะเข้ามาทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารก็ไม่มีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้กำหนดข้อห้ามไว้แต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าในที่ประชุมคสช.อาจมีการพูดถึงหน้าตาของคณะรัฐมนตรีบ้าง แต่เป็นในลักษณะที่ต้องการให้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามโรดแมปที่วางไว้ แต่ไม่ได้มีการพูดถึงความเหมาะสมที่ควรจะหาตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับคณะคสช.ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้ รวมไปถึงที่ปรึกษาคสช.ด้วย ซึ่งสัดส่วนของครม.ระหว่างทหารกับพลเรือนนั้น ก็คงไม่สามารถระบุได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสม
ส่วนกำหนดการตามโรดแมปของคสช.นั้น พล.อ.ไพบูลย์ ระบุว่า ต้นเดือนส.ค.คาดว่าน่าจะได้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และช่วงเดือนก.ย.จะมีแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีต่อไป ขณะที่การยกเลิกกฏอัยการศึกนั้น เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้ต่อไป โดยขอประเมินสถานการณ์อีกสักระยะหนึ่ง
ขณะที่นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ตนไม่เหมาะที่จะทำหน้าที่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะส่วนตัวมีปัญหาสุขภาพ แต่ปฏิเสธที่จะตอบว่าพร้อมรับตำแหน่งหรือไม่ หากได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้าคสช. พร้อมทั้งปฏิเสธไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์จะนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสามารถดำรงตำแหน่งได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมาชิก สนช.จะเป็นผู้พิจารณาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี