โดยทั้ง 3 แนวทาง ประกอบด้วย แนวทางแรก คือ การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปค่านิยมของคนไทย เช่น หลักสูตรปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และการต่อต้านการทุจริตแก่เยาวชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันให้มีการออก พ.ร.บ.คุณธรรมแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาส่งเสริมสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม
สำหรับการดำเนินงานของภาครัฐได้มีข้อเสนอให้ปฏิรูปการบริหารงานบุคคลและการให้บริการประชาชน โดยควรออกมาตรการป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เช่น การตรวจสอบจากคณะกรรมการกลางที่มาจากหลายภาคส่วน เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวก
ส่วนการป้องกันทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอห้ามตำรวจและอัยการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ รวมถึงทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังต้องเปิดเผยข้อมูลการบริหารเช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนให้สาธารณะชน ยังมีข้อเสนอให้ตรากฎหมาย พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เพื่อป้องกันการเรียกสินบน ด้วยการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติต่างๆ ให้มีความชัดเจน
นอกจากนี้ สภาพัฒนาการเมืองเสนอให้ตรา พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของทางราชการได้ง่ายขึ้น
แนวทางที่สอง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งความผิดที่เกิดขึ้นจะครอบคลุมถึงเครือญาติ หรือ "กฎหมายเจ็ดชั่วโคตร" และให้เพิ่มอายุความของคดีอย่างน้อย 30 ปี หรือไม่กำหนดอายุความเพิ่มอำนาจในการติดตามตัวผู้ร้ายข้ามแดน การตามคืนและริบทรัพย์สิน
และแนวทางที่สาม คือ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นให้เป็นอิสระทั้งการบริหารงานบุคคลและด้านงบประมาณ และต้องให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจยับยั้งโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่งบประมาณแผ่นดินอย่างร้ายแรง เช่น นโยบายประชานิยม