โดยทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้สมาชิก สนช. ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งมารายงานตัวที่ห้องรับรอง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 ตั้งแต่วันที่วันที่ 1-5 ส.ค. 2557 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มี สนช.ทยอยเดินทางมารับรายงานตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่มารายงานตัวคนแรก คือ นายตวง อันทะไชย อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ต่อด้วยนายศิระชัย โชติรัตน์, พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต, พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ, พล.ท.สุวโรจน์ ทิพย์มงคล
นายตวง อันทะไชย เปิดเผยว่า ไม่เคยรับการติดต่อจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาก่อน เพราะหลังจากสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งส.ว.สรรหา ก็ได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ต่างจังหวัด และมาทราบว่าตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สนช.หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแล้ว สำหรับภารกิจของสนช.ในอนาคตต้องเน้นหนักเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้อำนาจ สนช.ในการพิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เสนอมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ส่วนกรณีที่มีนายทหารเข้ามาเป็นสนช.จำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสนช.หรือไม่นั้น นายตวง กล่าวว่า ทหารจะเข้ามามากหรือน้อยไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นในเวลานี้คือการทำงานเพื่อบ้านเมืองให้เดินหน้าสู่การปฏิรูปได้ จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำงาน เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่จุดดังกล่าวให้ได้
สำหรับกรณีที่ สนช.จะมีอำนาจถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่นั้น นายตวง กล่าวว่า ประเด็นนี้คงต้องคุยกันในที่ประชุมสนช. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าหากมีประเด็นใดที่เป็นปัญหาทางกฎหมายจะต้องให้ที่ประชุมสนช.วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2549 สนช.เคยมีมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาแล้ว ประกอบกับปัจจุบันสถานะทางกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตยังมีผลอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐสภาได้ตั้งโต๊ะให้สนช.ลงทะเบียน และกรอกข้อมูลที่บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 เมื่อลงทะเบียนเสร็จทางรัฐสภาได้มีบัตรประจำตัวชั่วคราวให้ พร้อมซองเอกสารระบุสิ่งที่ต้องใช้สำหรับรายงานตัว เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบสำคัญการสมรส และรูปถ่าย โดยจะมีการเปิดประชุมสนช.ครั้งแรกในวันที่ 7 ส.ค.นี้
อย่างไรก็ดี ในการเปิดประชุมครั้งแรกจะต้องให้ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด คือ นายสมพร เทพสิทธา ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม และใช้ข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2549 เพื่อเลือกประธานและรองประธาน สนช.ต่อไป