ทั้งนี้ หลังจาก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557 มีผลบังคับใช้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา สปช. ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ คณะกรรมการสรรหา สปช.จาก 11 ด้าน จำนวน 11 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมการสรรหา 7 คน ซึ่งคสช.จะเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เข้าเป็นคณะกรรมการสรรหาฯ
ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัด และประธานกกต.ประจำจังหวัด ขณะที่คณะกรรมการสรรหาในส่วนของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขตในระดับจังหวัดของกรุงเทพมหานคร และประธาน กกต.กรุงเทพมหานคร
วันที่ 13 ส.ค. กกต.จะประกาศรายชื่อนิติบุคคลที่ประสงค์จะเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหา จากนั้นวันที่ 14 ส.ค.-2 ก.ย. กกต.จะให้องค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 11 ด้าน ด้านละไม่เกิน 50 คน ส่วนคณะกรรมการสรรหาจังหวัดจะเสาะหาบุคคลที่เหมาะสมควบคู่กันไป เมื่อได้รายชื่อบุคคลที่เข้ารับการสรรหา วันที่ 3 ก.ย.-12 ก.ย. กกต.กลางจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยวันที่ 13-22 ก.ย. กกต.จะส่งรายชื่อที่ผ่านการตรวจสอบให้กับคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกให้เหลือคณะละ 50 คน ในส่วนจังหวัดคัดให้เหลือไม่เกิน 5 คน
และ วันที่ 23 ก.ย.-2 ต.ค. คสช.จะพิจารณาคัดเลือกให้เหลือสมาชิกสปช. 250 คน พร้อมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป รวมระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมด 50 วัน