นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรมว.พาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษา คสช. กล่าวภายหลังรายงานตัว โดยยืนยันว่า จะไม่ลาออกจากที่ปรึกษา คสช.ด้านเศรษฐกิจ แต่จะทำงานควบคู่กันไป ทั้งนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าบรรยากาศของ สนช.ปีนี้แตกต่างจากสนช.ที่ตนเคยเป็นสมาชิกปี 2549 หรือไม่ ขณะเดียวกันมองว่าปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของคสช.ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเรื่องที่เป็นปัญหาก็ได้รับการแก้ไขแล้ว
อย่างไรก็ดี นายณรงค์ชัย ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธที่จะนั่งในตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ตามกระแสข่าวโผคณะรัฐมนตรี และไม่ขอแสดงความเห็นว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีจะเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน ควรรอให้มีการโปรดเกล้าฯ จึงจะวิพากษ์พิจารณ์ได้ ส่วนตำแหน่งประธานสนช. ก็ขอให้รอดูผลโหวตในวันศุกร์นี้
ด้านนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. สรุปภาพรวมการรายงานตัววันสุดท้ายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนนายสม จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิกสนช.แจ้งมาว่าจะรายงานตัววันที่ 7 ส.ค. ขณะเดียวกันสำนักงานเลขาวุฒิสภาได้แจ้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กรณีพล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ยื่นหนังสือลาออกจาก สนช. และนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ยื่นหนังสือไม่ขอรับตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะทำหนังสือแจ้งไปยังสมาชิกประชุมร่วมกัน เพื่อเลือกประธานและรองประธานสนช.ในวันที่ 8 ส.ค.นี้
สำหรับสมาชิก สนช.ที่ลาออก 2 คน ได้แจ้งไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แล้ววันนี้ ซึ่งจะมีการมีเสนอรายชื่อเพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหัวหน้าคสช. ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นวันใด เพราะต้องรอให้มีการเลือกประธานสนช.ก่อน และจากนั้นประธานสนช.จะเป็นผู้พิจารณากำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป อย่างไรก็ดี คิดว่าการประชุมสนช.เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรียังไม่สามารถกระทำได้ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งประธาน และรองประธาน สนช. ก่อน
นอกจากนี้ จะมีการเสนอข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ จึงจะสามารถบังคับใช้ได้ แต่ในระหว่างนี้ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2549 ไปก่อน
นางนรรัตน์ กล่าวต่อว่า การยกร่างข้อบังคับการประชุมสนช. เบื้องต้นจะใช้ข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2549 โดยเมื่อเลือกประธานและรองประธาน สนช.แล้ว สนช.ก็จะตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมใหม่ โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ยกร่างไว้ให้แล้ว หากสมาชิกสนช.เห็นชอบก็นำไปใช้ได้ทันที คาดว่าน่าจะใช้ประชุมประมาณ 3 ครั้งก็แล้วเสร็จ