"พล.อ.ประยุทธ์"รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกฯคนที่ 29 แล้ว

ข่าวการเมือง Monday August 25, 2014 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแหงชาติ(คสช.)ประกอบพิธีรับสนองพระบรมโองการ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2557 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงทรงพระราชดำริว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 24 ส.ค.2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน

ทั้งนี้ เส้นทางชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ บิ๊กตู่ เกิดเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2497 ที่ จ.นครราชสีมา เป็นบุตรชายของ พ.อ.(พิเศษ) ประพัฒน์ กับนางเข็มเพชร จันทร์โอชา เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดย 1 ในน้องชายคือ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

พล.อ.ประยุทธ์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสหะกิจวิทยา จ.ลพบุรี ต่อมาได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียน พิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี แต่เรียนได้เพียง 1 ปี ก็ลาออกเนื่องจากบิดารับราชการทหารต้องโยกย้ายไปในหลายจังหวัดจึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นได้เข้าเรียนเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 23 (จปร.23)

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ รศ.นราพร จันทร์โอชา อดีตอาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรสาวฝาแฝดสองคนคือ น.ส.ธัญญา และ น.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา

สำหรับการเริ่มต้นรับราชการทหาร ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 พัน.2 รอ.) เป็นเสนาธิการกรมฯ รองผู้บังคับกรม และขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมฯ ต่อมาย้ายมาเป็นรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์(พล.ร.2 รอ.) และเป็นผู้บัญชาการกองพลฯ

ต่อจากนั้นได้รับตำแหน่งเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 เดินตามรุ่นพี่สายบูรพาพยัคฆ์ นายทหารที่สังกัดหรือเจริญเติบโตมาจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ตั้งอยู่ค่ายพรหมโยธี จ.ปราจีนบุรี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมักเรียกกันว่า"ทหารเสือราชินี"โดยมีหน่วยขึ้นตรงในระดับกรมและกองพันกระจายตัวอยู่ทั้งในพื้นที่ จ.สระแก้ว ชลบุรี และปราจีนบุรี

ช่วงเกิดการรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งขณะนั้นมียศเป็น "พลตรี" ก็เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจด้วยรับคำสั่งตรงจาก พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดาแม่ทัพภาคที่ 1(ตำแหน่งขณะนั้น)

เมื่อพล.ท.อนุพงษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) และเลื่อนชั้นยศเป็น "พลเอก" พล.ต.ประยุทธ์ ก็ได้เลื่อนชั้นยศขึ้นเป็น "พลโท" และรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 อีกทั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ด้วย ต่อมาวันที่ 1 ต.ค.2553 พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ทบ. คนที่ 37 ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ ที่เกษียณอายุราชการ

ตลอดระยะการทำงาน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ผ่านเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองมากมาย จนล่าสุดความขัดแย้งเริ่มบานปลายมากขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงตัดสินใจประกาศยึดอำนาจการบริหารจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 และอยู่ในฐานะหัวหน้า คสช.ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ