ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่วาระประชุมได้พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 15 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อหลังจากตุลาการศาลยุติธรรม 2 คน คือ นายพิภพ อะสีติรัตน์ และนายวรสิทธิ์ โรจนพานิช ครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีกรอบเวลาการทำงาน 30 วัน
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.... โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้เสนอ ซึ่ง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ.2549 แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวยังคงมีรูปแบบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงทำให้การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการถวายความปลอดภัยของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้การถวายความปลอดภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นการบูรณาการการทำงานของส่วนราชการร่วมกัน
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ การยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย 2 ฉบับ คือ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 36 เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ.2549 (ร่างมาตรา 7 ) พร้อมมีการกำหนดนิยามศัพท์ต่างๆ เพื่อความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การถวายความปลอดภัย ให้พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทั้งปวง กำหนดให้สมุหราชองครักษ์มีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศกรมราชองครักษ์ เพื่อการรักษาความปลอดภัยได้ รวมทั้งให้มีคณะกรรมการถวายความปลอดภัย โดยมีสมุหราชองครักษ์เป็นประธาน
ซึ่งที่ประชุม สนช.มีมติรับร่างพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 180 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอต่อที่ประชุมให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องด่วนที่ 3 คือร่าง พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ออกไปก่อน เพื่อให้มีการหารืออีกครั้ง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานอย่างรอบด้าน
หลังจากนั้นเป็นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีนายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลว่าร่างกำหมายดังกล่าวจะเป็นการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดกรอบเวลาการค้ำประกันและจำนองให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากพบว่า เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพให้กู้ยืม ซึ่งมีอำนาจการต่อรองสูง จึงควรเพิ่มการคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันด้วย
ด้านสมาชิกได้มีการอภิปรายเห็นด้วยกับร่างกำหมายดังกล่าว เพราะเป็นประโยชน์ผู้ค้ำประกัน เพื่อไม่ให้เป็นช่องโหว่ของสถาบันการเงิน และเป็นการให้ความยุติธรรมกับผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ โดยที่ประชุมมติรับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วยคะแนนเสียง 170 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องด่วน โดยมีการเสนอให้พิจารณาควบรวมร่างกำหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 เนื่องจากมีสาระสำคัญที่ใกล้เคียงกันแต่ให้แยกการลงมติ โดยนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ..2469 โดยกฏหมายฉบับนี้ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักร ทำให้การศุลกากรของประเทศไม่เป็นไปตามมาตราฐานสากลและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกัน และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการประเมินค่าภาษีและการเสียภาษี พร้อมกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะนำของเข้ามาในราชอาณาจักรยื่นคำร้องขอให้อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณากำหนดราคาของนำเข้าถิ่นกำเนิดของที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักร กำหนดให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมทั้งให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเพื่อจำกัดการใช้อำนาจทางศุลกากรในการตรวจของและป้องกันการลักลอบหนีศุลกากร และให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้น ของที่นำเข้ามาเพื่อการผ่านแดนและให้ดำเนินการทางศุลกากรในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มีสาระสำคัญกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการประกาศกำหนดอัตราอากรตามราคาหรือตามสภาพได้เพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันหรือตามสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ รวมทั้งกำหนดให้การเรียกเก็บและเสียอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายหรือตามที่รมว.การคลังประกาศกำหนดโดยความเห็นของของคณะรัฐมนตรี ให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ของที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักร และมีอำนาจพิจารณาตีความพิกัดอัตราศุลกากรฯ
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร ด้วยคะแนน 157 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการฯจำนวน 15 คน และแปรญัตติภายใน 7 วัน นอกจากนี้ ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ด้วยคะแนน 158 เสียง งดออกเสียง 1เสียง โดยให้ใช้กรรมาธิการฯ ชุดเดียวกันกับร่าง พ.ร.บ. ศุลกากร พิจารณาควบคู่