"มีการส่งสัญญาณแล้วว่าจะจำกัดบทบาทของ คสช.ไว้ที่งานด้านความมั่นคง เนื่องจากมีรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่แล้ว แต่บุคลากรของรัฐบาลก็มีคนของคสช.อยู่ด้วย ทั้งนี้ชาวโลกคงจะจับตาว่าจะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบคำสั่งอย่างไร ซึ่งหัวหน้า คสช.ก็บอกว่าจะมีการผ่อนคลายในเวลาที่เหมาะสม...ในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ใช้เวลาประมาณเดือนหนึ่งในการยกเลิก แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์จริง คงบอกล่วงหน้าไม่ได้ เป็นเรื่องที่ คสช.ต้องชี้แจงต่อไป"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงความคาดหวังต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ว่า ต้องการให้เดินหน้าการปฏิรูปประเทศ โดยกลไกสำคัญ คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.)และสมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.)ซึ่งสำคัญมากกว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เนื่องจากโครงสร้างอำนาจที่วางไว้ จึงอยากเห็นการเดินหน้าอย่างจริงจัง
นอกจากนั้น รัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งการเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสแรกของปี 2558 ก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเข้าใจว่ายังมีข้อจำกัดเพราะทำได้เพียงบางส่วน แต่กำลังซื้อของประชาชนและการส่งออกจะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ จึงต้องเร่งดำเนินการส่วนนี้ด้วย ไม่ใช่ฝากความหวังไว้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว
“ผมเป็นห่วงเศรษฐกิจชนบทเพราะรายได้เกษตรกรทั้งข้าวและยางพาราได้รับผลกระทบมาก ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เห็นว่าการหมุนเวียนในเศรษฐกิจชนบทเป็นอย่างไร หากไม่มีการแทรกแซงราคาเลยก็จะกระทบคนส่วนใหญ่ของประเทศ แม้เศรษฐกิจจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์การเมืองที่สงบลงและมีความเชื่อมั่นขึ้น แต่ถ้ากำลังซื้อไม่กระเตื้องก็จะเป็นปัญหาย้อนกลับมา โดยเฉพาะความเดือดร้อนของประชาชนที่จะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นในกลุ่มของเกษตรกร ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร บนหลักสมเหตุสมผล สามารถทำได้ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างระยะกลางระยะยาว แต่ถ้าทำเฉพาะปรับโครงสร้างก็จะไม่ตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะหน้า ราคาข้าวขณะนี้อยู่ที่ 5-6 พันบาทต่อตันและจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อข้าวออกมาในช่วงปลายปี จึงเห็นว่าครม.ควรจะพิจารณาเป็นเรื่องแรก ๆ ว่าจะช่วยเกษตรกรอย่างไร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
สำหรับการแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ควรจะให้มีการถ่ายทอดสดเพื่อใช้เวทีนี้แถลงให้ประชาชนทราบด้วย