ขณะที่ ร้อยละ 11.84 ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อน เพราะ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางในช่วงกลางคืน การติดต่อ เจรจาประสานงาน การเข้าถึงสื่อข้อมูลข่าวสาร ขาดอิสระในการแสดงออกความเห็นต่างทางการเมือง เศรษฐกิจแย่ลง ผู้ประกอบการบางรายสูญเสียรายได้ลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และ ร้อยละ 0.48 ไม่ระบุ/ไม่แสดงความคิดเห็น
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอของตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน ที่ต้องการให้ คสช. ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.28 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศต่อ นักลงทุน และเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดีขึ้น และการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทาง การทำงาน กลับมาเหมือนเดิม อีกทั้งสถานการณ์โดยรวมถือว่าดีขึ้นมากแล้ว
รองลงมา ร้อยละ 40.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะการประกาศใช้กฎอัยการศึกทำให้รู้สึกสบายใจ และต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเช่นนี้ต่อไปอีกสักระยะ จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าจะไม่มีความขัดแย้งหรือเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการเดินทางมีความคล่องตัวมากขึ้น ไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือประท้วงใด ๆ และในขณะนี้ถึงแม้ว่าภายนอกสถานการณ์จะดูสงบดี แต่อาจมีคลื่นใต้น้ำที่รอจังหวะเพื่อสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายอีกครั้ง ร้อยละ 11.44 ระบุว่า ไม่แน่ใจ เพราะยังมีบางพื้นที่ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากจะยกเลิกควรมีการพิจารณาเป็นรายจังหวัดหรือรายพื้นที่ และ ร้อยละ 4.64 ไม่ระบุ/เฉย ๆ เพราะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด จะยกเลิกหรือไม่อย่างไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับ คสช.
ทั้งนี้ ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 20.00 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 20.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 21.68 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร้อยละ 19.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ร้อยละ 54.08 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 45.76 เป็นเพศหญิง และ ร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก