ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 57 ที่ให้อำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลปกครองสูงสุด, อัยการสูงสุด, กรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, รองประธานศาลฎีกา, รองประธานศาลปกครองสูงสุด, หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร, รองอัยการสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น
นพ.เจตน์ กล่าวถึงความคืบหน้าการถอดถอนนักการเมือง 4 สำนวน โดยมีสำนวนเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมาให้วุฒิสภารวมอยู่ด้วยว่า ภายหลังที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. และมีการสั่งยุบวุฒิสภา จึงไม่ทราบว่าสำนวนดังกล่าวจะอยู่ในชั้นไหน หรือตกไปแล้วหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สนช.กำลังยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช.และมีเรื่องถอดถอนรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อ สนช.ยกร่างเสร็จและมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการป.ป.ช.อาจตรวจสอบกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และข้อกฎหมายอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกยกเลิกว่าทั้ง 4 สำนวนเข้าหลักเกณฑ์การถอดถอนของ สนช.หรือไม่ หากเข้าเงื่อนไขก็สามารถส่งเรื่องมาให้ สนช.ดำเนินการถอดถอนได้ทันที
โฆษกวิปสนช. กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่มีการแย้งว่า ขณะนี้ไม่มีฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตามมาตรา 270-274 หมวดเรื่องการถอดถอนนั้น สนช.สามารถนำเอามาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาบังคับโดยใช้อาศัยจารีตประเพณีการปกครองมาอุดช่องว่าง แต่หากอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอ้างว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเพณีการปกครองที่เคยทำมา สุดท้ายอาจต้องส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สนช.จะมีอำนาจถอดถอน 4 สำนวนดังกล่าวหรือไม่