นายกฯ มอบนโยบาย หน.ส่วนราชการ กำจัดโกง-ยึดประโยชน์ชาติ แจ้งผลงานทุก 3 เดือน

ข่าวการเมือง Wednesday September 17, 2014 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการระดับสูง โดยระบุว่า การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างยั่งยืนในทุกด้าน ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหาที่สะสมนาน ทั้งการบุกรุกป่า โดยเฉพาะกลุ่มนายทุน การค้ามนุษย์ การเกษตร พลังงาน ยาเสพติด ระบบโครงสร้างภาษี ซึ่งรัฐบาลจะผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีความจำเป็น

ดังนั้น ขอให้ทุกส่วนราชการเป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว สร้างความเข้มแข็งทั้งภาครัฐและเอกชนให้เกิดความร่วมมือกันในทุกระดับ การใช้จ่ายงบประมาณก็จะต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงไม่ซ้ำซ้อน ยึดหลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และที่สำคัญต้องระมัดระวังและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ทุก 3 เดือนจะต้องรายงานผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรี และจะตรวจสอบในทุกโครงการ ขณะที่ผู้ตรวจราชการของทุกกระทรวงและหน่วยงานต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างจริงจัง พร้อมการตรวจสอบของภาคประชาชนด้วย

จากนั้นเป็นการชี้แจงนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คน โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า จะต้องมีการปรับโครงสร้างที่สำคัญในหลายส่วน เช่น ด้านการคมนาคมขนส่ง, ภาคการเกษตร ที่ต้องมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร หนุนกลุ่มสหกรณ์การเกษตรให้เป็นผู้ซื้อคนสำคัญ และสามารถแปรรูปหรือส่งออกได้เองด้วย จะเป็นจุดสำคัญที่คานอำนาจการต่อรองจากพ่อค้าคนกลางได้เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะเริ่มใช้แนวทางนี้กับสินค้ายางพาราก่อน หากได้ผลจะขยายไปยังสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ต่อไป , ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้า รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

พร้อมกันนี้ มองว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ หรือเศรษฐกิจดิจิตอล โดยจะต้องเป็นการพัฒนาที่มุ่งเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ซึ่งจะต้องมีการตั้ง National Digital Economy Committee ขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้รับปากจะเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ และจะดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย จากนั้นจะมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ไปโปรโมท Digital Economy กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะพยายามให้เห็นผลสำเร็จภายใน 1 ปี แต่ระหว่างนี้ขอเวลาประมาณ 2 เดือนในการจัดทำร่างกฎหมายก่อน โดยจะมอบหมายให้กระทรวงไอซีทีประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม กล่าวว่า ขณะนี้จะต้องเดินหน้าประเทศไทยสู่สังคมที่มีความเป็นธรรม ไม่มีการทุจริต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการของรัฐ ซึ่งจะต้องมีการเร่งสร้างโอกาส สร้างอาชีพเพื่อการมีรายได้ที่มั่นคง มีระบบการออม และสวัสดิการชุมชนที่ดี และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้พิการและผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคม ขณะเดียวกันจะต้องเตรียมพร้อมและจัดระเบียบสังคมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ส่วนงานด้านการปฏิรูปการศึกษา การเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมนั้น จะเร่งปรับปรุงระบบงบประมาณเพื่อให้สามารถนำมาช่วยในการสนับสนุนการศึกษาในด้านต่างๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบการผลิตครู-ผู้บริหารกระทรวง อนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมและภาษา ด้านการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชนจะต้องวางรากฐานระบบประกันสุขภาพ จัดระบบบริการสุขภาพด้านการป้องกันโรค ทั้งโรคอุบัติใหม่ และอุบัติซ้ำ ตลอดจนการป้องกันและลดอุบัติเหตุ การป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณแม่วัยใส การอุ้มบุญ และการปลูกถ่ายอวัยวะที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ระบุว่า นโยบายรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นั้น จะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ถ้าปราศจากปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการนี้ คือ งบประมาณ, อัตรากำลัง และกฎหมาย ซึ่งเรื่องกฎหมายถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้

ทั้งนี้ สำหรับการผลักดันกฎหมายต่างๆ ในระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีเวลาประมาณ 1 ปีหรือบวกลบนั้น จะจัดลำดับความสำคัญในการนำเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสนช. โดยเห็นว่ากฎหมายที่จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ก่อนลำกับต้นๆ คือ กฎหมายที่เป็นพันธะสัญญาระหว่างประเทศ จากนั้นจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ การแก้ปัญหาทุจริต และการส่งเสริมธรรมาภิบาล

พร้อมมองว่า การผ่านร่างกฎหมายในรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญกับปริมาณ แต่อยู่ที่คุณภาพมากกว่าว่าจะเป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาในด้านใดให้แก่ประเทศได้ โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ภูมิใจว่าจะผ่านกฎหมายได้มากหรือน้อย แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายไว้สำหรับเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ