นอกจากนี้ หาก สปช.เห็นชอบร่าง รธน.จะต้องแจ้งไปยัง ครม.จากนั้น ครม.แจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ วันเวลา การออกเสียงประชามติโดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และทำการลงประชามติตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า หากที่ประชุม สปช.มีมติไม่เห็นชอบร่าง รธน. ถือว่า สปช.เสร็จสิ้นภาระกิจในเวลา 24.00 น.ของวันที่ลงมติ แต่หาก สปช.เห็นชอบด้วยเสียงข้างมากก็จะต้องพิจารณาเรื่องคำถามประชามติ โดยมี 2 ขั้นตอน คือ ถามต่อที่ประชุมว่าเห็นควรที่ สปช.จะมีคำถามในการทำประชามติหรือไม่ โดยให้สมาชิกได้แสดงความเห็น หากสมาชิกเห็นว่าไม่ควรก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ต่อไป
แต่หากที่ประชุม สปช.เห็นควรว่าต้องตั้งคำถามก็ต้องพิจารณา 2 ญัตติที่ค้างในวาระ คือ ญัตติเรื่องขอเสนอประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2 ปีก่อนจัดการเลือกตั้งของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายวรวิชญ์ ศรีอนันต์รักษา และญัตติเรื่องการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงของนายประสาร มฤคพิทักษ์ และนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่สมาชิก สปช.คนอื่นยังสามารถเสนอญัตติเพิ่มเติมได้นับจากวันนี้จนกว่าจะมีการปิดการเสนอญัตติได้
เลขานุการวิป สปช.กล่าวว่า ที่ประชุมวิป สปช.ยังได้หารือประเด็นที่มีการยื่นเรื่องให้นายเทียนฉาย ส่งร่าง รธน.ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาประเด็น เกี่ยวกับร่าง รธน.ยังไม่มีคำปรารภนั้น ซึ่งสำนักเลขาธิการ สปช.ได้เสนอความเห็นว่า ผู้มีอำนาจในการตีความว่าร่าง รธน.แล้วเสร็จหรือไม่คือ กมธ.ยกร่างฯ อีกทั้ง รธน.ชั่วคราวมาตรา 5 วรรคสองไม่ได้บัญญัติให้ สปช.เป็นผู้ส่งเรื่อง ต่างจาก ครม., คสช., ศาลฏีกา หรือศาลปกครองสูงสุดที่อาจขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ดังนั้น สปช.ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ไม่อยู่ในฐานะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ พร้อมกับส่งเรื่องให้เจ้าของเรื่องทราบตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แต่หากเจ้าของเรื่องยังมีประเด็นข้อสงสัยสามารถส่งไปยัง ครม.เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยตรง
ส่วนกรณีที่มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย มีมติสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิขององค์กรต่างๆ จะออกมาแสดงความเห็นจุดยืนของตนเอง ทาง สปช.ก็จะหยิบยกมาประกอบการตัดสินใจว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกับข้อเสนอของพรรคการเมือง และฝ่ายต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน โดยที่ประชุมวิป สปช.ไม่ได้มีการหารือว่าจะลงมติไปในทิศทางใด เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกและคนที่จะพิจารณาได้อย่างอิสระ รวมถึงไม่มีการหารือเรื่อง สปช.จำนวน 21 คนที่ร่วมเป็น กมธ.ยกร่างฯ มีสิทธิ์ในการลงมติหรือไม่ เพราะถือเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน