นอกจากนี้ นายนิรันดร์ ยังเรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 37 วรรค 7 ด้วยการเปลี่ยนให้เสียงที่จะผ่านการทำประชามติ ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ ส่วนข้อสังเกตที่ให้ สปช.ลงมติรับร่างไปก่อนแล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
ด้านนายสิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 6 กันยายน ว่า จากการเช็คเสียง สปช. พบว่า จะมีการลงมติผ่านร่างได้ด้วยคะแนน 190-200 เสียง ส่วนเสียงที่จะคว่ำร่างนั้นมีเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกที่ตั้งธงไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ
พร้อมเรียกร้องนักการเมืองที่ประกาศไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง และเตือนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หากออกมาคัดค้านและยุยงให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญอาจขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัว จึงขอให้ยุติความเคลื่อนไหว ไม่เช่นนั้นจะยื่นให้ศาลพิจารณาถอนประกัน