ทั้งนี้ เบื้องต้นยังไม่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในส่วนนี้ และไม่ทราบว่ารายชื่อจะออกมาภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ เนื่องจากเร็วเกินไปที่จะให้คำตอบได้ รวมถึงยังไม่มีการเตรียมการใดๆ เพราะยังคงมีเวลาอีก 30 วัน เข้าใจว่ามีคนที่ทำหน้าที่เลือกคณะกรรมการฯ อยู่แล้ว แต่คนที่ได้รับการทาบทามบางคนอาจติดขัดในการทำงานส่วนอื่น เช่นเดียวกับการทาบทามรัฐมนตรีที่ติดภาระ ที่ไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งเดิมได้ ซึ่งสุดท้ายจะต้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นผู้ตัดสินใจ
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (8 ก.ย.) ตนจะรายงานโรดแมพต่อจากนี้ให้ที่ประชุมครม.รับทราบ โดยระยะเวลาต่อจากนี้ ตั้งแต่เดือนต.ค.58 จะอยู่ในสูตร 6+4+6+4 คือ 6 เดือนแรกให้คณะกรรมการฯ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 4 เดือนต่อมา คือการทำประชามติ และหากประชามติผ่าน อีก 6 เดือนจะต้องทำกฎหมายลูก ก่อนจัดการเลือกตั้ง และหาเสียงอีก 4 เดือน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังไม่ได้ระบุหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติอีกครั้ง เพราะตนเองไม่ได้คิดในแง่ร้าย และคิดไปไกล แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จำเป็นต้องหามาตรการมารองรับ
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าจะหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา แต่ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการยกร่างฯ ชุดใหม่ เป็นผู้พิจารณา เพราะถ้าพูดไปตอนนี้ก็อาจมองได้ว่าเป็นใบสั่ง ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) จะอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่นั้น นายวิษณุ มองว่า คณะกรรมการยกร่างฯ ชุดใหม่จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นจะใช้มาตรการอะไรมารองรับ ซึ่ง คปป.ก็ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะนำมาใช้แทนมาตรา 44 ที่บางคำสั่งอาจจะสิ้นสุดลงภายหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการยกร่างฯ จะต้องสร้างความมั่นใจแก่ทุกฝ่ายว่าจะไม่มีการสืบทอดพฤติกรรมแบบเก่าที่เคยทำ
สำหรับการที่ สปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุ เชื่อว่ามีหลายสาเหตุ แต่ไม่ทราบรายละเอียด ต้องขอรอการประเมิน ซึ่งเชื่อว่ามีหลายสาเหตุที่ต่างกัน และยังเร็วเกินไปที่จะมีการพูดคุยเรื่องนี้
รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีถอดยศนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรีว่า คสช.เห็นว่าการใช้มาตรา 44 ย่อมดีกว่า เนื่องจากบางฝ่ายพยายามจ้องที่จะยกประเด็นนี้ขึ้นมา จะได้ไม่เป็นการรบกวนพระองค์ท่านมาเกินไป