พร้อมทั้งขอบคุณคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิก สปช.ที่ตั้งใจทำงานตลอดเวลา 11 เดือนที่ผ่านมา และไม่ตำหนิการทำงานของกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ สปช.ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการไม่ปรองดอง เนื่องจาก สปช.มาจากคนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายและทุกจังหวัด ซึ่ง สปช.ทุกคนทำงานท่ามกลางความกดดัน ความเห็นต่าง แต่คนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย กลับมาวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิทุกวัน
"การที่ใครอยากจะเข้ามาหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณา ผมไม่ได้คิดคนเดียวต้องหารือกับคณะทำงานของผมว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม หรือไม่อย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าชุดเก่าเขาไม่ดี ประเด็นผมก็คือว่า ในเมื่อเป็นบทเรียนการร่างครั้งแรก สิ่งที่ผมมองว่าดีหรือไม่ดี แต่ผมมองในแง่การเริ่มต้นของการปรองดองไม่เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่บัดนี้ การปรองดองของผมก็คือ คนที่อยู่ในสปช.มาจากทุกจังหวัด มาจากแดง จากเหลืองผมไม่ได้ห้ามใคร ขณะเดียวกันกรรมาธิการยกร่างก็มาจากกลุ่มนี้ ถ้ากลุ่มนี้เข้าใจกัน จะผ่าน ไม่ผ่าน ผมก็ไม่สนใจ ผ่านผมก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ไม่ผ่านผมก็ทำงานมากกว่าเดิม"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่ได้สั่งให้สปช.สายทหารลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง และไม่สนใจหากใครจะมองว่า คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะอยู่ต่อในตำแหน่ง เพราะตนเองไม่ได้ต้องการผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น
"ผมไม่คาดหมายอะไรทั้งสิ้น ถ้าผมคาดหมายผมทำงาน ผมไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผ่านก็ไปทำประชามติ เลือกตั้งใหม่ก็เลือกตั้งไป ผมก็กลับบ้าน ผมไม่สนใจ ผมบอกแล้วจะยืดจะสั้นผมไม่มีประโยชน์ ไม่ได้ประโยชน์จากตรงนั้นเลย เหนื่อยต่อ เหนื่อยเพื่อใคร ก็ต้องอดทนมั้ง อย่าทำให้เส้นโลหิตแตกก่อนก็แล้วกัน"พลเอกประยุทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมการยกร่างทั้ง 21คน แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งอยากให้ทุกคนช่วยกันนำพาประเทศหลุดพ้นปัญหาต่างๆ
"การผ่านรัฐธรรมนูญไม่ใช่ 21 คน ประชาชนทั้งประเทศรู้ตระหนักถึงภัยตัวเองหรือยัง รู้ว่าประเทศชาติมีภัยตรงไหนหรือยัง ถ้าไม่รู้ผมก็ไม่เอาแล้ว ผมก็ช่วยไม่ได้แล้ว ต่อให้ 10 ประยุทธ์ 100 ประยุทธ์ ทำไม่ได้ แล้วผมไม่ใช่เป็นวีรบุรุษ ไม่ต้องการทำคนเดียวต้องการให้คน 70 ล้านนำพาประเทศหลุดพ้นกับดักนี้สักที"พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ส่วนแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะยึดหลักความเป็นสากลและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงต้องมีแนวทางเรื่องของการปฏิรูปด้วย ซึ่งหากจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ ปี 2550 มาเป็นแนวทางก็กังวลว่า อาจไม่ได้รับการยอมรับจากคนที่ไม่เห็นด้วยในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับนี้จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันแสวงหาความเข้าใจให้ได้
ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ เรื่องของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. จะต้องตัดออกหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องถามว่า ประเทศไทยต้องการปฏิรูปหรือไม่ และนักการเมืองที่เข้ามาจะปฎิรูปประเทศหรือไม่ ซึ่งทุกคนต้องตอบเรื่องนี้ให้ได้ก่อน
นายกรัฐมนตรี ยังอธิบายว่าการปรองดองไม่ใช่แค่การยกโทษ หากวันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ผ่านมาใช่หรือไม่ ให้ไปถามรัฐบาลที่ผ่านมา
"วันนี้มาเป็นคนดีกันทุกคนเลย ก็รอคอยแล้วกัน กระบวนการยุติธรรมมันถึงกันหมดถ้าสอบสวนเกี่ยวข้องกับใครก็โดนหมด ในคดีทุจริต อย่ามาบอกว่าไม่ทุจริตนะ ถ้าไม่ทุจริตคงไม่มีเรื่องหรอก และถ้าไม่มีเรื่องนี้ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ผมไม่มีโอกาสเข้ามายืนตรงนี้อยู่แล้ว และเวลาผมเข้ามาสื่อก็พยายามจะเบียดผมออกไปให้ได้ และเอาไปเทียบกับคนเหล่านี้ ผมคงไม่ไปเทียบด้วย ผมไม่ใช่คนทำผิดกฎหมาย ผมผิดในฐานะที่เข้ามารับผิดชอบ ตรงนี้ผิดรู้อยู่แล้ว แต่เอาผมไปผิดเหมือนคนทุจริตผิดกฎหมาย มันคนละระดับกับผม ผมไม่พูดด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว