การทำงานของ สนช.ไม่ใช่เป็นตราประทับ การทำงานไม่ใช่ง่ายๆ ไม่ใช่แค่เห็นชอบกฎหมาย มีกมธ.วิสามัญกิจการที่คอยประสานงานกับรัฐบาล เพื่อพิจารณากฎหมายให้เป็นประโยชน์ จะต้องชอบด้วยหลักกฎหมายและเป็นประโยชน์ โดยใช้หลักพิจารณากฎหมาย คือ หลักนิติธรรม และสนช.ทราบดีว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ต้องทำกฎหมายเพื่อประโยชน์ให้กับประชาชน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงในการพิจารณากฎหมาย ในการร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งจะต้องมีการบัญญัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ก็ต้องชะลออกไปก่อน
"การแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คน ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ได้บัญญัติว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็ให้ฟังความเห็นของสนช.ด้วย ซึ่งผมได้คุยกับนายสุรชัยว่า ต้องเตรียมการดำเนินการ โดยอาจมีสมาชิกสนช.เข้าไปร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 1- 2 คน เพื่อให้ทุกอย่างราบรื่น และเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สนช.ต้องมีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย" นายพรเพชร กล่าว
พร้อมยืนยันว่า สนช.ทำงานที่ผ่านมามีอิสระและตั้งใจเต็มที่ แม้จะถูกมองว่าสนช.ส่วนใหญ่มาจากทหารจนกลายเป็นสนช.ท๊อปบู๊ท และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ไม่ได้ทำงานเพื่อสนองนโยบายใคร ไม่ได้มีใครทำตามคำสั่งเพราะนายทหารที่อยู่ในสนช.ส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการแล้ว นอกจากนี้การลงมติของสนช.ก็นานๆ ครั้งถึงจะมีการลงมติแบบลับ อีกทั้งยังมีกฎหมายหลายฉบับที่สนช.ส่งคืนกลับไปยังรัฐบาล ซึ่งขอให้สื่อมวลชนจับตาดูการทำงานของสนช.ต่อไป
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 กล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่รัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของสปช. แต่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สนช.ต้องมีส่วนในการเสนอความเห็น ดังนั้นกมธ.สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับมอบหมายให้ฟังความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาต้องทำหน้าที่ต่อไป โดยเฉพาะนำเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปมาศึกษาถึงข้อดีและข้อเสีย เพื่อเสนอเป็นความเห็นให้แก่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ทั้ง 21 คน รวมถึงคำถามและข้อติติงที่สังคมได้เสนอมาด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงการทำงานของสนช. ใน 1 ปีที่ผ่านมาว่า ผลงานที่ผ่านมาของสนช.ถือว่าสอบผ่านหรือไม่ เพราะผลสำรวจระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก สนช.นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า สนช.ทำงานมากเกินไปจนลืมประชาสัมพันธ์ตัวเองกับประชาชน จากนี้ไปจะพยายามเข้าหาสังคมและสาธารณะให้มากขึ้น และสนช.จะทำอะไรให้มากขึ้น และยอมรับว่านี่คือจุดอ่อนที่คาดไม่ถึง แต่จะใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ผ่านการทำงานประชาสัมพันธ์ และตัวเลขผลสำรวจนี้จะดีมากยิ่งขึ้น
ส่วนโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็น 6+4+6+4 นั้น สนช.ต้องมีการปรับโรดแมปตามหรือไม่ นายพรเพชร ตอบว่า โรดแมปของสนช.ไม่มีแบบ 6+4+6+4 แต่จะทำงานจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่โรดแมป 6+4+6+4 คงจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของสนช.ด้วย เช่น การพิจารณากฎหมาย และการบริหารพัฒนาประเทศต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ทั้งสิ้น 143 ฉบับ รับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว 132 ฉบับ ยังไม่ได้รับหลักการ3 ฉบับ อยู่ระหว่างรอคณะกมธ.พิจารณา 1 ฉบับ และตกไป 7 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาในวาระที่ 2 จำนวน 21 ฉบับ และให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 จำนวน 110 ฉบับ โดยประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษาแล้วจำนวน 84 ฉบับ
ในส่วนของญัตตินั้น ได้มีการพิจารณาญัตติจำนวนทั้งสิ้น 46 เรื่อง ประกอบด้วยญัตติตั้งกมธ.วิสามัญ 10 เรื่อง และญัตติเพื่อกำหนดประเด็นซักถามในกรณีถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง 36 เรื่อง ขณะที่ได้มีการตั้งกระทู้ถามซึ่งเป็นกระทู้ถามทั่วไปจำนวน 18 กระทู้ โดยตอบในที่ประชุมสนช. 16 กระทู้ และสมาชิกขอถอน 2 กระทู้
ด้านการเลือกตั้ง การแต่งตั้ง และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆนั้น ประกอบด้วย การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน การเลือกตั้งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุฯวุฒิ กรรมการยุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ การให้ความเห็นชอบผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และอัยการสูงสุด
ขณะที่การถอดถอนบุคลออกจากตำแหน่งนั้น มีการดำเนินการทั้งสิ้น 6 กรณี ประกอบด้วย กรณีนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตสมาชิกวุฒิสภา, กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, กรณีอดีตสว.จำนวน 38 คน, กรณีอดีตสมาชิกสส.จำนวน 248 คน และกรณีนายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีงานที่สนช.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ทั้งงานด้านกมธ. การสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือโครงการสำคัญต่างๆเช่น โครงการกองทุนการศึกษา โครงการนักพัฒนาผู้นำนักประชาธิปไตยสำหรับเยาวชน โครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร "กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" โครงการสนช.พบประชาชน รวมถึงงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ งานด้านวิชาการ งานด้านการวิจัยและพัฒนา