(เพิ่มเติม) โฆษก คสช.เผยนายกฯ ย้ำกระชับกรอบเวลาจัดทำร่างรธน. เพื่อให้เดินตามโรดแมพ

ข่าวการเมือง Tuesday September 15, 2015 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) คสช. และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มาชี้แจงกรอบเวลาการดำเนินงานในช่วงจากนี้ไป โดยเฉพาะในเรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงสูตรระยะเวลา 6+4+6+4 เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินการตามกรอบเวลาดังกล่าว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้า คสช.ได้ขอให้ดำเนินการในระยะเวลาที่กระชับขึ้น แต่อย่างไรก็ดีเห็นว่าคงจะต้องขึ้นกับองค์ประกอบหลายๆอย่าง

นอกจากนี้ หัวหน้าคสช.ยังระบุว่า จากนี้ไปจะต้องบูรณาการการทำงานตลอดจนแผนงานและงบประมาณให้เป็นไปตามกรอบเดิมที่วางไว้ แต่ขอให้หน่วยงานราชการบูรณาการกันอย่างจริงจังมากขึ้น รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับองค์กรต่างๆ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง เช่น ตำรวจ ทหาร ก็ต้องการให้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนมากขึ้น โดยยืนยันว่า คสช.จะดูแลความสงบเรียบร้อยตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงโรดแมพขั้นที่ 3 หรือเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง

พร้อมกันนี้ หัวหน้า คสช.ยังได้มอบหมายให้ส่วนต่างๆไปเร่งสรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญว่าที่ผ่านมา คสช.ได้ทำอะไรไปแล้งบ้าง และแผนการในอนาคตมีอะไรจะต้องดำเนินการ โดยให้สร้างความรับรู้แก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่ง คสช.ยังยืนยันการดำเนินการภายใต้ 3 หลักการที่สำคัญ คือ 1. การบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบที่วางไว้ตั้งแต่การร่างรธน.ไปจนถึงการเลือกตั้ง 2. การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และ 3. การรักษาความสงบเรียบร้อยให้บ้านเมือง

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมในวันนี้ยังไม่ได้หารือถึงคณะกรรมการร่างรธน.ชุดใหม่ ขณะที่กรณีของสมาชิกสภาขับเคลื่อน ยังไม่ได้มีการหารือในรายละเอียด เพียงแต่พูดคุยในวงกว้างๆ ว่า สมาชิกสภาขับเคลื่อนต้องมาจากหลายกลุ่ม หลายอาชีพ ประชาสังคม นักกฎหมาย นักวิชาการ และตัวแทนนักการเมือง

ส่วนกรณีที่ คสช.เชิญบุคคลมาปรับทัศนคติและควบคุมตัวไว้ เนื่องจากบุคคลที่เชิญมาได้มีการให้ข้อมูลหรือมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ คสช.เคยขอความร่วมมือไว้ นอกจากนี้ บุคคลเหล่านั้นยังให้ข้อมูลที่พาดพิงไปถึงบุคคลและองค์กรอื่น ซึ่งหลายกรณียังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน จึงทำให้สังคใเกิดความสับสน และมีผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม รวมถึงความไม่เชื่อมั่นในองค์กรที่ถูกพาดพิงได้

ส่วนกรณีผู้สื่อข่าวเนชั่นที่ถูกเชิญตัวมาปรับทัศนคติ คาดว่าจะถูกควบคุมตัวไม่เกิน 7 วัน แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามใช้วิธีแลกเปลี่ยนความเห็น ทำความเข้าใจ ไม่ใช้การบังคับใช้กฎหมาย เว้นแต่จะจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องเพิ่มระดับการใช้กฎหมาย

ส่วนกรณีของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงานนั้น พ.อ.วินธัย กล่าวว่า คสช.ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนพูดคุย ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือ

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ฝากการบ้านเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นตามหลักประชาธิปไตยสากลและให้ดำเนินการจัดทำให้รวดเร็ว หากเป็นไปได้อยากจะให้ล่นระยะเวลาลงมาจากกรอบที่วางไว้ 20 เดือน พร้อมแย้มทางออกหากไม่ผ่านประชามติอาจหยิบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นขึ้นมา แต่ขณะนี้ยังไม่เคาะชื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

"นายกรัฐมนตรีให้มอบการบ้าน เน้นให้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยระบบสากลมีความมั่นคง และต้องไม่มีทางตัน ถ้าจำเป็นต้องมีมาตรการอย่างไร ควรจะเป็นเรื่องเฉพาะกาลที่ประชาชนยอมรับ" นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กล่าวภายหลังประชุมร่วม ครม. คสช. และ สนช.

ประธาน สนช. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านความเห็นชอบในขั้นตอนการทำประชามติ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะต้องมีหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานได้ดำเนินการไว้มาปรับแก้ร่วมกับฉบับอื่นๆ เพื่อจัดทำเป็นรัฐธรรมนูญออกมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ฝากเป็นการบ้านให้กับทุกฝ่าย

สำหรับการคัดเลือกรายชื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ในที่ประชุมยังไม่ได้มีการพิจารณารายชื่อ ซึ่งอาจจะมีการเสนอรายชื่อให้กับนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ประธาน สนช.ปฏิเสธว่า ตนเองไม่ได้เป็นคนเสนอชื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.เข้ามาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามที่มีกระแสข่าว เพราะการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของหัวหน้า คสช.จะเป็นผู้พิจารณา แต่ตนเองก็พร้อมจะช่วยนายกรัฐมนตรีในการพิจารณารายชื่อ หากนายกรัฐมนตรีขอคำปรึกษามา

ส่วนคุณสมบัติผู้ที่จะทำหน้าที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นายพรเพชร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงในประชุมว่า ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งมาจากหลายภาคส่วน ใน 5 ส่วนหลัก คือ 1.ข้าราชการประจำส่วนหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร 2.ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว 3.ผู้ทรงคุณวุฒิ จากทุกสีเสื้อทางการเมือง 4.ฝ่ายความมั่นคงและนักกฏหมาย และ 5.จากอดีตสมาชิก สปช.ประมาณ 50-60 คน ตามความเหมาะสม โดยคาดว่ารายชื่อทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กันยายนนี้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ