"สุดารัตน์"ชี้ปฏิวัติแก้ปัญหาทุจริตไม่ได้-อย่าจ้องแต่กำจัดนักการเมือง

ข่าวการเมือง Monday September 21, 2015 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาในหัวข้อ "การพัฒนาการเมือง เพื่อความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทย" โดยมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตเลขาธิการอาเซียน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และนายกล้าณรงค์ จันทิก สมาชิกสนช.เข้าร่วมด้วย

นายกล้าณรงค์ กล่าวว่า ความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญคือ พรรคการเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองเป็นตัวหลักในการชี้และนำทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาที่ต้องมองต่อไป คือพรรคการเมืองในปัจจุบัน เป็นพรรคการเมืองแบบอุดมคติ ถึงเวลาแล้วที่บ้านเมืองเราต้องเดินไปสู่จุดปฏิรูปและเปลี่ยนแปลง เรายึดระบบอุปถัมภ์มากกว่าคุณธรรม ทำให้คนมีอุดมการณ์เข้ามาทำงานได้ยาก เพราะเรายึดคนมีอำนาจ คนมีเงินมากกว่า จึงเกิดปัญหาใหญ่ขึ้น

แต่สิ่งที่ตนหวังคือ นักการเมืองต้องแก้ไข การปฏิรูปนั้นไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่หัวใจของการปฏิรูปอยู่ที่ประชาชน เราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการบริหารประเทศไม่ใช่หน้าที่หรือเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่เป็นหน้าที่ของประชาชน รัฐบาลเป็นเพียงกลไกที่ขับเคลื่อนไปสู่จุดที่ประชาชนต้องการ ทั้งหมดนี้ความสำคัญจะอยู่ที่พรรคการเมือง

ด้านนายสุรินทร์ กล่าวว่า ได้คำถามจากต่างประเทศบ่อยครั้งว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่ตอบได้ว่าประเทศไทยกำลังหาจุดสมดุลใหม่ให้กับตัวเอง นอกจากนี้ พรรคการเมืองต้องไม่ใช่พรรคชั่วครู่ชั่วยามเพื่อผลประโยชน์ ไม่ใช่พรรคข้ามคืน ไม่ใช่พรรคที่หาทางออกของประเทศชาติ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานทางออกของประชาธิปไตย รวมถึงพรรคการเมืองจะต้องไม่เป็นพาหะพิเศษเพื่อการลงทุน ไม่จัดตั้งขึ้นเพื่อฉกฉวยโอกาสเฉพาะหน้า แต่ต้องจัดตั้งขึ้นเพื่ออุดมการณ์ หากเรามีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ชัดเจน มีวิธีมองปัญหา วิธีวิเคราะห์ปัญหาในกระบวนการประชาธิปไตยจะชัดเจนและยั่งยืน

ดังนั้นพรรคการเมืองจะต้องไม่ตั้งขึ้นมาเพื่อธุรกิจพิเศษเฉพาะหน้า เพื่อการต่อรองขอเก้าอี้ เราจะกำหนดได้หรือไม่ในกฎหมายว่าจะต้องไม่มีการควบรวมยุบพรรคหลังการเลือกตั้ง เพราะการทำแบบนี้คือการหาเสียงข้างมาก ที่เป็นเหมือนใบอนุญาตไปทำอะไรก็ได้ ดังนั้นอย่าให้คะแนนเสียงของประชาชนเป็นสินค้า อย่าให้การเลือกตั้งเป็นการตลาด กรอบกฎหมายใหม่ต้องป้องกันสิ่งเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้น

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญในฉบับที่กำลังจะร่างเป็นฉบับที่ 21 ของ 83 ปีประชาธิปไตยไทย บนเส้นทางประชาธิปไตย เราลองผิดลองถูกใช้เวลานาน ถ้าเปรียบก็คือบุคคลที่เข้าสู่วัยชรา เราเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่ทำลายสถิติปฏิวัติรัฐประหารมากที่สุด คงโทษส่วนใดส่งหนึ่งไม่ได้ ต้องมององค์รวมว่าเกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยไทย ซึ่งผู้ที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรง คือ พรรคการเมือง นักการเมือง

เราอยู่บนสมมติฐานที่ว่านักการเมือง พรรคการเมืองเลว จึงต้องตัดปัญหาวงจรอุบาทว์ของพรรคการเมือง และนักการเมือง เพราะเราไม่ได้เชื่อและศรัทธาในอำนาจประชาธิปไตยประชาชน แต่เชื่อว่าประชาชนยังด้อยพัฒนาไม่มีความรู้พอ เราจึงใช้วิธีพิเศษเข้ามาตัดตอนอำนาจตลอดเวลา 83 ปีเราใช้วิธีนี้มาตลอดและไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา แต่เป็นการเกิดของกับดัก และหลุมดำของปัญหามากขึ้น

พร้อมระบุว่า การทุจริตโกงกินเกิดต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดในรัฐบาลที่เข้มแข็ง ถ้าเราไม่แก้ปัญหาแม้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง รัฐบาลผสมก็จะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ขณะนี้ปัญหาทั้งหมดเดินมาถึงจุดนี้ เราลองผิดลองถูก อย่างแรกนักการเมือง พรรคการเมืองต้องร่วมรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องเป็นผู้ที่เริ่มต้นปฏิรูป ปฏิวัติตัวเอง ซึ่งแนวทางพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมือง คือ ต้องห้ามสมาชิกเป็นเจ้าของพรรค สมาชิกพรรคและประชาชนต้องเป็นเจ้าร่วมกัน ส่วนระบบทุนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีการผูกขาดของเจ้าของเดียว โอกาสการพัฒนาของพรรคการเมืองจะไม่เกิดขึ้น พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อนักการเมืองที่ตนนำเสนอ และนโยบายที่ต้องรับผิดและรับชอบด้วย

อย่างไรก็ดี พรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลในอดีต จะต้องปฏิรูปตัวเองในโอกาสนี้ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เว้นวรรคทางการเมือง จะต้องทบทวนบทบาทและบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อวางแผนพัฒนาการเมือง และแน่นอนว่านโยบายของแต่ละพรรคที่ออกไปต้องเป็นนโยบายที่ถูกใจ ซึ่งจะเรียกว่าประชานิยมหรือประชารัฐก็แล้วแต่ แต่ขอให้ถูกใจก็พอ และตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศ ถ้าไม่ถูกใจประชาชนก็ไม่รู้จะออกไปทำไม

"การแก้ปัญหาไม่ให้นักการเมืองทุจริต ไม่โกงกิน ไม่ซื้อเสียง จะแก้ด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร แก้ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ไม่ได้ จะเห็นว่า 83 ปี ที่ผ่านมาเราแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ได้แก้ไปแล้ว วันนี้การรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ อย่าตั้งโจทย์ว่าการเมือง นักการเมืองเลวต้องกำจัด ถ้าเรายังตั้งโจทย์เดิมกำจัดไม่ได้ ปัญหายังวนอยู่อย่างเดิม" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

พร้อมเห็นว่า ถ้าเราพยายามเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เปลี่ยนจากคำว่ากำจัดเป็นพัฒนา และใช้โอกาสการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ เป็นโอกาสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ได้ และการร่างรัฐธรรมนูญอย่าเอาแค่ความคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คน แล้วเขียนรัฐธรรมนูญว่าต้องกำจัดสิ่งเลวร้ายทางการเมือง เพราะถ้าหากยังคิดแบบนั้น จะหนีไม่พ้นวงจรเดิม นักการเมืองที่ดีต้องรักษาประชาธิปไตยได้ ให้ใช้ตัวรัฐธรรมนูญฉบับสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี เราเปลี่ยนวิธีการเขียนรัฐธรรมนูญจากกรธ. 21 คนได้ด้วยการขอให้ฟังเสียงจากภาคประชาชน จึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ศักดิสิทธิ์ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ยอมรับได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ