"ดังนั้นเมื่อนายกฯ ยืนยันว่ามีความจำเป็น ผมจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะซักไซร้มากไปกว่านี้ ต้องเชื่อดุลยพินิจของท่าน ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือตามกำลังความสามารถ ผมจึงไม่อาจเห็นแก่ความสุขสบาย และไม่อยู่ในฐานะจะปฏิเสธได้ มิเช่นนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้จักทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน" นายมีชัย กล่าว
พร้อมยอมรับว่า งานในตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อคิดว่าทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้แล้ว ก็จะอดทนและตั้งใจทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด
ส่วนข้อกังวลที่ว่าเมื่อเข้ามาทำหน้าที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้วนั้น อาจจะไม่เป็นตัวของตัวเอง และต้องร่างกฎหมายไปตามผู้ที่สั่งการนั้น นายมีชัย ยืนยันว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่มีใครสามารถร่างไปตามใจปรารถนาของตัวเองได้ เพราะไม่ใช่การร่างกฎหมายเก็บไว้ใช้ในบ้าน แต่เป็นการร่างกฎหมายสำหรับใช้กับคนทั้งประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีกรอบของการร่างรัฐธรรมนูญ กรอบแรกคือ ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ระบุว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องร่างให้ครบถ้วน และกรอบที่สอง คือ กรอบของ คสช.ที่จะต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎกติกาของบ้านเมือง
ซึ่งตามกรอบการร่างรัฐธรรมนูญตามความมุ่งหมายของ คสช.ประกอบด้วย 5 ประการดังนี้ 1.การร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากล ในขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประเทศไทยและคนไทยที่มีหรือเป็นอยู่ 2.ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้
3.ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้การเมืองใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยใช้เงินแผ่นดินไปอ่อนเหยื่อกับประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม โดยมิได้มุ่งหมายให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขในระยะยาวจนเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง และเกิดวิกฤติที่หาทางออกไม่ได้
4. มีแนวทางการขจัดการทุจริตและพฤติกรรมมิชอบอย่างได้ผล 5.สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม
นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับการคัดเลือกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 คนนั้น คสช.และรัฐบาลได้ร่วมกันคัดเลือกมาแล้ว และส่งมาตนพิจารณา ซึ่งได้มีการเพิ่มเติมบางบุคคลเข้าไปเพื่อให้เกิดความครบถ้วนในทุกองค์ประกอบ ซึ่งรัฐบาลและคสช.ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญจะนำของเดิมกลับมาปรับปรุงหรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวว่า คงต้องปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 คนก่อน เพราะแต่ละคนคงมีแนวคิดที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี พรุ่งนี้(6 ต.ค.) เวลา 13.30 น. จะมีการเรียกประชุม กรธ.นัดแรก ที่รัฐสภา และคาดว่าจะต้องมีการประชุมร่วมกันทุกวัน
ทั้งนี้มองว่า การร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจทุกคนคงยาก แต่ทำอย่างไรให้ประเทศเดินไปได้ และพอจะสามารถยอมรับกันได้ทุกฝ่ายนั้น ถือเป็นความยากของการร่างรัฐธรรมนูญในยุคนี้มากกว่าการร่างรัฐธรรมนูญในอดีต อย่างไรก็ดี เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการทำประชามติก่อนเพื่อฟังความเห็นจากประชาชนก่อนที่จะนำมาใช้จริง
"การทำประชามติยังจำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ต่อไปนี้รัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งปวงต้องปฏิบัติตามเคร่งครัด การจะให้เขาปฏิบัติตามได้นั้น เขาจะต้องรับรู้ก่อนและเห็นดีเห็นงามด้วยถึงจะทำได้...ประชามติ คงต้องใช้คะแนนของคนที่มาออกเสียง ใครไม่มาออกเสียงจะถือว่าสละสิทธิ์" นายมีชัย กล่าว