นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตสมาชิก สปช. กล่าวว่า การเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะสมาชิก สปท. ต่างจากสมาชิก สปช.เพราะ สปท.จะดำเนินการผลักดันการปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรมมากกว่า โดยต่อยอดจากพิมพ์เขียวที่ สปช.เคยเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ไว้แล้ว ซึ่งเชื่อว่า สปท.จะทำให้การปฏิรูปเกิดความสมบูรณ์
สำหรับบุคคลที่จะมาเป็นประธาน สปท.นั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ตนเองไม่มีความเห็น เพราะทุกคนมีความเหมาะสม ทั้งนี้ผู้ที่จะมาเป็นประธาน สปท.จะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ มีวิสัยทัศน์ มีภาวะความเป็นผู้นำ สามารถบริหารและดูแล สปท.ให้ทำงานอย่างบรรลุผลได้
ด้านนายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิก สปช. กล่าวว่า อยากให้ สปท.นำวาระปฏิรูป 37 วาระของ สปช.ทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งควรนำเรื่องสำคัญมาดำเนินการให้เสร็จสิ้น โดยต้องทำให้เห็นผลทันทีภายใน 1 ปี คือ เรื่องของการเลือกตั้งที่ต้องได้ตัวแทนพรรคการเมืองเป็นคนดีเข้ามาทำหน้าที่ เรื่ององค์กรส่วนท้องถิ่นที่ต้องกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นและปฏิรูปตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมา สปช.ได้นำเสนอ ครม.และ ครม.ส่งเรื่องต่างๆไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ทั้งนี้ สปท.เปรียบเสมือนมือของ ครม.ที่จะต้องมาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ
สำหรับการเลือกประธาน สปท.ในการประชุมนัดแรกนั้น นายวันชัย กล่าวว่า ตนเองไม่ขอพูดถึงรายบุคคล และไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ใคร แต่ตนเองอยากได้ประธาน สปท.ที่มีบุคลิกคล้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นคนทำงานมุ่งมั่น ทุ่มเท กระตือรือร้น ไม่ใช่มานั่งแค่เป็นประธาน เพราะการขับเคลื่อนการปฏิรูปต้องผลักดันถึงจะสำเร็จ ตัวประธานจึงสำคัญที่จะต้องมีลักษณะดังกล่าว จะเป็นทหารหรือพลเรือนก็ได้แต่ต้องมีคุณสมบัติดังกล่าว
ขณะที่ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เปิดเผยว่า การทำเข้ามาทำหน้าที่ สปท.จะเน้นเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจ โดยสานต่อจากการทำงานของ กมธ.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่หลายคนยังขาดความเข้าใจเรื่องบทบาทและหน้าที่ของตำรวจ ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายไม่ให้ตำรวจต้องรับใช้ฝ่ายการเมือง ต้องไม่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวโต๊ะตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวตนเองได้เตรียมพร้อมที่จะผลักดันไว้แล้ว
ส่วน พล.อ.นคร สุขประเสริฐ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แม้ส่วนตัวจะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่คิดว่าการทำเช่นนี้จะเกิดผลดีเพราะการทำงาน สปท.ก็จะมีความเห็นหลากหลาย และที่สำคัญสมาชิก สปท.ก็มีหลากหลาย ทั้งเอกชน ข้าราชการ และอื่นๆ ไม่ใช่มีเพียงนักวิชาการ ส่วนเรื่องการเลือกประธาน สปท.นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความเหมาะสม ทั้งคุณวุฒิ คุณสมบัติ ซึ่งตนเองยังไม่ทราบว่าจะเป็นใคร ทราบแต่ข่าวว่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ แต่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นใคร เป็นเพียงการคาดการณ์ของสื่อ และสมาชิก สปท.ส่วนใหญ่ยังไม่มีความสนิทสนมกัน จะมาบอกว่าเลือกใครตอนนี้คงไม่เหมาะสม
สำหรับกรอบการทำงานของ สปท.คงมีการหารือกันอีกครั้ง และคงมีการปรับวิธีการทำงาน เพราะที่ผ่านมา สปช.เป็นการวางกรอบภาพกว้าง แต่ครั้งนี้คงต้องปรับเพื่อให้การทำงานเดินหน้ามองโครงสร้างการทำงานใหม่ ปรับรายละเอียดให้เข้ากับแผนยุทธศาตร์แห่งชาติ ส่วนการทำงานเมื่อก่อนแบ่งเป็นคณะ 18 คณะ แต่ครั้งนี้อาจจะมีการจัดกลุ่มเรียงลำดับการทำงาน อันไหนสำคัญกว่ากันก็ขับเคลื่อนก่อน ส่วนตัวหวังจะเดินหน้าต่อในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและการปฏิรูประบบการศึกษา
พล.อ.นคร ปฏิเสธไม่ทราบข่าวอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญบางคนจะได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา กรธ. เพียงแต่ได้ยินนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า กรธ.สามารถแต่งตั้งที่ปรึกษาได้ 9 คน แต่ที่ทราบมีอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ไปเป็นที่ปรึกษาแล้ว 2 คน คือ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ และนายเจษฎ์ โทณะวณิก ส่วนคนอื่นๆ ตนเองไม่ทราบ แต่รายละเอียดเรื่องที่ปรึกษานั้นเข้าใจว่าคัดเลือกจากอดีตเลขานุการการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับและอดีตคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ