"มีชัย" ตั้งเป้าร่างรธน.เสร็จตามกรอบเวลาทำงาน 120 วัน พร้อมเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น

ข่าวการเมือง Tuesday October 6, 2015 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กรธ.นัดแรกวันนี้คงจะมีการแบ่งงาน จัดสรรตำแหน่งต่างๆ และกำหนดกรอบทิศทางการทำงาน และวิธีการรับฟังความคิดเห็นเนื่องจากทางกรธ.มีเวลาในการทำงานเพียง 180 วันซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 เม.ย.59 และหากหักวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันเสาร์-อาทิตย์ การทำงานของกรธ.ก็จะเหลือประมาณ 120 วัน ดังนั้นในช่วงแรกจะประชุมทุกวันยกเว้นวันเสาร์- อาทิตย์ ซึ่งจะทำงานตลอดวันทั้ง เช้า กลางวัน เย็น และดึก
"ช่วงหลังอาจต้องประชุมทุกวัน เพราะระยะเวลา 120 วัน ยังไม่เพียงพอกับการทำงาน แต่ก็ต้องทำ และอย่าเพิ่งไปคิดว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อขขายเวลาการทำงาน เมื่อเขากำหนดมาอย่างไรเราก็ต้องทำให้ได้ตามนั้นก่อน แต่หากไปถึงจุดนั้นแล้วเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากันต่อไป คือต้องตั้งเป้าหมายไว้ก่อนว่า กรธ.ต้องดำเนินการให้เสร็จตามกรอบเวลา" นายมีชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องของการออกแบบประเทศ ถ้านั่งปุ๊บแล้วคิดออกก็ได้ แต่ถ้านั่งแล้วคิดไม่ออก ก็ต้องนั่งไปอีกหลายวันแล้วถึงจะคิดออก ซึ่งมันก็จะกินเวลา เพราะเมื่อทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ต้องส่ง ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และประชาชนได้รับทราบ ซึ่งต้องใช้เวลา และต้องมีเวลาให้กรธ.ปรับปรุงแก้ไข ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราต้องทำงานให้เสร็จเร็วขึ้น ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ แต่เราก็ต้องพยายาม

นายมีชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เบื้องต้นคงต้องมีการหารือกับที่ประชุม กรธ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เท่าที่นึกออก ซึ่งยังไม่ทราบว่า ที่ประชุมจะเห็นด้วยหรือไม่ คือวิธีการเปิดฟรี ไม่มีกำหนดวัน ใคร กลุ่มใด แม้กระทั่งพรรคการเมือง อยากเสนอความคิดเห็นใดก็สามารถทำได้ทุกช่อทาง กรธ.ยินดีรับฟัง ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นจะพบว่ามีการดำเนินการมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเชื่อว่าแต่ละจุด แต่ละคนก็คงไม่แนวคิดของตัวเองอยู่ ดังนั้นไม่ต้องรีรอ นึกสิ่งใดได้ก็สามารถส่งมาได้เลย หากเห็นว่ามีประโยชน์

“ขนาดสองวันก่อน ยังมีคนเสนอสิ่งที่พิสดารมายังเว็บไซต์มีชัย ไทยแลนด์ฯ ซึ่งผมก็พร้อมรับฟัง ไม่ว่าความเห็นจะมาจากไหน ผมยินดีรับฟังและนำมาประกอบการพิจารณา เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะรวบรวม สมมุติหากเราทำเสร็จแล้ว แล้วมีคนเสนอไอเดียที่เจ๋งมากๆ เราก็อาจจะต้องรื้อใหม่ก็ได้ ไม่เป็นไร หากมีเวลา ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ทางกรธ.พร้อมนำไปประกอบการพิจารณา ซึ่งเขาใจว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็นความคิดที่ดี แล้วทุกคนเห็นด้วย ก็สามารถนำมาใช้ได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็แปลว่าประชาธิปไตยมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่ได้แปลว่าใครไม่เห็นด้วยกับเราแล้วคนนั้นจะเป็นคนเลว คิดแบบนั้นมันต้องเป็นฮิตเลอร์อย่างเดียว...ตนไม่ค่อยลำบากใจกับการรับฟังความเห็นของบุคคลอื่นๆ ประชาธิปไตยสามารถเถียงกันได้ หากเถียงกันจนพอใจแล้ว ต่างคนก็ต่างไปทำหน้าที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องการรับฟัง ตนพร้อมรับฟังทุกฝ่าย เพราะชอบฟังมากกว่าชอบพูด"นายมีชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้วิฤตความขัดแย้งอย่างไร นายมีชัย กล่าวว่า เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งที่กำหนดไว้ในมาตา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กับที่ คสช.กำหนดไว้ ซึ่งก็ต้องหาหนทาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ