และเนื่องจากยังไม่เคยมีกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้มาก่อน จึงสมควรวางมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและการเตรียมการอื่น ๆ เช่น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การเตรียมการเกี่ยวกับการลงประชามติ การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อันจะทำให้กระบวนการทั้งหลายดำเนินไปได้ตามเวลาที่กำหนดหรือเร็วขึ้นสมประโยชน์และสอดคล้องกับการปฏิรูปการเมืองการปกครองตามแผนและขั้นตอน (Roadmap) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แถลงไว้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1. ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557
2. ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีที่ปรึกษาจำนวนไม่เกินเก้าคน ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งโดยคำนึงถึงผู้เคยเป็นกรรมาธิการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 พ.ศ. 2550 และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด พ.ศ. 2557 – 2558 ด้วยให้ที่ปรึกษาตามวรรคหนึ่งซึ่งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเชิญให้เข้าประชุมได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ๆ ละสี่พันบาท วันใดที่มีการประชุมหลายครั้งให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียว
3. ให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแต่ละคนมีผู้ช่วยในการปฏิบัติงานในตำแหน่งและอัตราค่าตอบแทนตามที่ประธานรัฐสภาออกระเบียบ โดยเทียบเคียงกับกรณีของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่จำนวนต้องไม่เกินคนละสามอัตรา
4. ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีผู้ช่วยในการปฏิบัติงานดังนี้
(1) ผู้ชำนาญการประจำตัวประธานกรรมการ จำนวน 2 อัตรา และผู้ชำนาญการประจำตัวกรรมการคนละ จำนวน 1 อัตรา ทั้งนี้ ให้ผู้ชำนาญการแต่ละคนได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 20,000 บาท
(2) ผู้ช่วยดำเนินงานของประธานกรรมการและกรรมการคนละ จำนวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอาจตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติงานภายในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อนุกรรมการดังกล่าวได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งที่มาประชุมตามอัตราและหลักเกณฑ์เดียวกับกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ให้มีผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่เกินห้าคนซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการรัฐสภาสามัญอย่างน้อยหนึ่งคน ผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ๆ ละหนึ่งพันบาท
ให้ประธานกรรมการ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและอนุกรรมการซึ่งต้องเดินทางไปราชการภายในราชอาณาจักร นอกจังหวัดอันเป็นที่ตั้งอาคารรัฐสภาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมติของคณะกรรมการได้รับค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายและมสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล เช่นเดียวกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557
5. ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดงบประมาณ สถานที่ เจ้าหน้าที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและคณะอนุกรรมการตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแจ้งให้ทราบเพื่อประโยชน์แก่การจัดทำร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ในกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นสมควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดค่าใช้จ่าย สิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการปฏิบัติงานและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ด้วย
6. การเบิกเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะ ค่ารักษาพยาบาลของประธานกรรมการ กรรมการและอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้เบิกจ่ายจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
7. เพื่อประโยชน์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การจัดให้มีการลงประชามติและการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานอื่นเพื่อศึกษาหรือเตรียมการควบคู่กันไป โดยประสานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ต้องให้มีความสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ และคำนึงถึงกำหนดเวลา แผนและขั้นตอนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการนี้จะกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนแก่ผู้ได้รับแต่งตั้งด้วยก็ได้