นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองได้ฝากให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จัดทำรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ ลดปัญหาความขัดแย้ง ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ลดความเลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินในทิศทางที่ถูกต้อง มีมาตรการและกฏหมายลูกรองรับ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยเรื่องการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) กับนายมีชัยว่าควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เชื่อว่านายมีชัยและคณะกรรมการ กรธ.คงนำแนวทางรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาพิจารณา และจัดทำให้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งหาก กรธ.จะกำหนดให้มี คปป.ก็ถือเป็นแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาให้กับบ้านเมืองในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
"เป็นมาตรการหนึ่งที่คณะกรรมการเขาคิดมา ที่มองว่าควรมีกลไกซักอันหนึ่งสืบทอดอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาในซักช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ตลอดปีตลอดชาติ ถ้ามีมาตรการอื่นก็มีสิ ท่านไม่อยากให้มีอะไรเลยใช่หรือไม่ ถ้าอยากให้เป็นปกติก็ไม่ต้องร่าง ผมก็ไม่ต้องเข้ามา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีกฏหมายต่างๆออกมา แต่ยังมีคนไม่ปฏิบัติตาม แล้วรัฐธรรมนูญคนจะปฏิบัติตามหรือไม่ วันนี้ต้องสอนให้คนรักษากฏหมาย เพราะแม้จะมีทั้งกฏหมายอาญา กฏหมายแพ่ง หรือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ก็ยังมีคนออกมาประท้วง แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครกลัวกฏหมาย ซึ่งหากยังเป็นแบบนี้เขียนรัฐธรรมูญอีก 100 ฉบับก็คงจะไม่มีใครปฏิบัติตาม เพราะหากรัฐบาลใหม่เข้ามาจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธแสดงความเห็นว่า รัฐบาลใหม่จะฉีกรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับการออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชนทุกคน แต่เป็นห่วงว่าประเทศจะอยู่ได้หรือไม่มากกว่า
ส่วนการเลือกสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ(สปท.) จำนวน 200 คนที่มีผู้ที่มาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) นั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่ใช่การตอบแทนผลประโยชน์กัน เพราะการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ สปท.ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ อีกทั้งมีตัวแทนจากพรรคการเมืองร่วมด้วย แม้จะลาออกจากพรรคแล้วก็ตาม แต่ถือว่าเป็นคนของพรรคการเมืองอยู่ดี ดังนั้นจะมาบอกว่าไม่มีส่วนร่วมไม่ได้