สำหรับขั้นตอนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้ความเห็นชอบร่วมกัน จากนั้นเสนอให้ สนช.พิจารณา ซึ่ง สนช.จะมีมติให้ความชอบหรือไม่ภายใน 15 วัน โดยมีเสียงที่เห็นชอบจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สนช.ทั้งหมด ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ครม.และ คสช.จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป คาดว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะต้องเสร็จภายในกรอบเวลา 180 วันของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)
ส่วนกรณีคุณสมบัติของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.), สมาชิก สนช.และ กรธ.จะเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 41 ไม่ได้พูดถึงการสรรหา ป.ป.ช.หรือองค์กรอิสระอื่น แต่เป็นการรับรองคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหา ซึ่งในมาตรานี้ได้ยกเว้นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็น สปท. สนช. และ กรธ.ให้เข้ารับการสรรหาได้ ขณะที่ผู้พิพากษา อัยการ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ จะต้องใช้หลักเกณฑ์ของตัวเองในการรับบุคคล
อย่างไรก็ตาม หากร่างรัฐธรรมนูญทำประชามติไม่ผ่านก็เป็นหน้าที่ของ คสช.และครม.ที่จะดำเนินการแก้ไข แต่ส่วนตัวเห็นว่าแนวทางการแก้ไขจะต้องทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งสามารถนำรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านประชามติหรือรัฐธรรมนูญอื่นๆ มาปรับปรุงแก้ไขได้