ขณะนี้ทาง กรธ.กำลังทำหนังสือเพื่อส่งไปยังองค์กรตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ได้แก่ คสช., ครม., สนช. และ สปท. ตลอดจนพรรคการเมืองให้เสนอความคิดเห็นเข้ามาได้ ซึ่งคงจะไม่เชิญมาเสนอคิดเห็นและข้อเสนอแนะเป็นรายบุคคล เว้นแต่เฉพาะประเด็นที่ กรธ.ยังไม่ตกผลึกชัดเจน เช่น องค์กรอิสระต่างๆ ที่ต้องเชิญมา
"อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ก็มีมานานแล้ว แต่เหตุใดการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงไม่ลดลง แต่ละคดีก็ใช้เวลา จึงอยากรู้ปัญหาเพื่อจะได้ออกแบบกลไกให้เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ยังนึกไม่ออกเหมือนว่าจะต้องมีองค์กรอะไรเพิ่มอีก" นายมีชัย กล่าว
ส่วนความคิดเห็นจากพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้คณะรับฟังความคิดเห็นได้เริ่มประมวลประเด็นเพื่อแยกแยะและนำมาพิจารณา รวมทั้งในส่วนที่พรรคการเมืองเคยส่งมาด้วยเพื่อทุ่นเวลาการทำงาน โดยหวังว่าพรรคการเมืองต่างๆจะส่งความเห็นเข้ามา ซึ่ง กรธ.จะพิจารณาทั้งหมด แม้จะมีความหลากหลาย แต่ กรธ.จะพิจารณาโดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งภายในเดือน ม.ค.59 คาดว่า ร่างแรกจะแล้วเสร็จเพื่อส่งให้ คสช., ครม., สนช., สปท. และเปิดเผยสู่สาธารณะให้ได้พิจารณา
ประธาน กรธ.กล่าวว่า หากส่วนใดที่อยากให้มีการแก้ไข กรธ.ก็พร้อมรับฟัง ส่วนบทเรียนในปี 2535 ที่มีการต่อต้านประเด็นเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีจนเกิดวิกฤตนั้น ในตอนนั้นส่วนตัวก็ยังสงสัยว่าไม่เห็นดีเห็นงามในตัวหลักการหรือตัวบุคคลกันแน่ แต่อะไรที่ผ่านมาแล้วก็ใช้เป็นเครื่องเตือนใจ ถ้าทำตรงไปตรงมาก็ไม่น่าจะเกิดเรื่อง ส่วนตัวก็ยังไม่นึกออกเหมือนกันก็ขอให้ทุกคนช่วยกันคิด