ส่วนการตั้งอนุกรรมการด้านความปรองดองขึ้นมานั้น ก็เพื่อให้ไปศึกษาว่าการปรองดองจะทำอย่างไร รายงานการศึกษาของเก่าที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำไว้ก็ต้องเอามาศึกษาและต่อยอดเพื่อทุ่นเวลาการทำงาน
สำหรับในเรื่องโครงสร้างคงไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยรูปแบบของเนื้อหาก็จะใส่ไปตามลำดับ ไม่แบ่งเป็นภาค ส่วนการเขียนนั้นส่วนตัวก็จะหารือกับที่ประชุมกรธ. 2 เรื่องว่าจะเขียนแบบละเอียดหรือเขียนสั้นให้ครอบคลุมจะได้ไม่ต้องยืดยาว กับจะออกแบบโดยอิงของเดิมหรือจะลอกของเดิมเลย ซึ่งเมื่อวานนี้(11 ต.ค.) อนุกรรมการร่างก็เริ่มดำเนินการบ้างแล้ว
"การเขียนให้สั้น เพื่อต้องการให้มีหลักประกันแก่ประชาชน ซึ่งบางส่วนเมื่อมีหลักแล้ว ก็ต้องไปออกกฎเกณฑ์กฎหมายลูกตามมา เพื่อไม่ให้หลักมันเลื่อนลอย ซึ่งเรื่องนี้กรธ.ก็ได้หารือเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าจะต้องมีมาตรการกดดัน(sanction) ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐบาลที่เข้ามาผลักดันให้มีกฎหมายลูก เช่น กำหนดให้การกู้เงินต้องสอดคล้องกับวินัยการเงินการคลัง หากยังไม่มีกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องก็กำหนดให้กู้ได้แค่ร้อยละ 1 รัฐบาลที่เข้ามาอยากจะดึงการออกกฎหมายลูกไว้แค่ไหนก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการตีกิน การเขียนกฎหมายบังคับขู่ว่าจะลงโทษ ไม่เอาแล้ว ไม่ได้เรื่อง" ประธานกรธ.กล่าว