นายกฯ ส่งสารฉบับที่ 2 แจงกรณีสั่งตรวจสอบสสส.-ขอยุติเสนอข่าวกองทัพขัดแย้ง

ข่าวการเมือง Tuesday October 13, 2015 09:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งสารถึงประชาชน ฉบับที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กองทุน สสส. และเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนบางส่วนที่ออกไปในทิศทางที่เสนอเรื่องความขัดแย้งภายในกองทัพ

โดยพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในเรื่องของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปตรวจสอบไม่ได้หมายความว่า ณ ขณะนี้มีการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว หากแต่เป็นเพียงการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพนั้น มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนขึ้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของพี่น้องประชาชนได้อย่างครบถ้วน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างรัดกุม มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน

โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการในการที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและดำเนินการอย่างต่อเนื่องในนโยบาย เพื่อที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

ในประเด็นที่ 2 เรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง จากการที่มีตัวแทนของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ หรือสื่อมวลชนบางแขนงที่ออกมาเสนอความคิดเห็นทางสื่อ รัฐบาลต้องขอขอบพระคุณทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่เหมือนกันหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็ตาม รัฐบาลก็พร้อมที่จะรับข้อมูลไว้ทั้งหมด เพื่อจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ตามกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีความจำเป็นที่จะต้องรับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หลายเรื่องต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งต้องมีความสอดคล้องสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งยุทธศาสตร์และแผนงานระยะยาวของหน่วยงานต่างๆ จึงขอเรียนว่า การดำเนินการทุกอย่างนั้นเป็นการวางแผนและเป็นการเตรียมการสำหรับอนาคตในวันข้างหน้า เพื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะได้ใช้อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบมาจากประชาชนอย่างถูกต้องเป็นธรรม และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือจากนักการเมืองทุกท่านกับนักวิชาการ สื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนที่มีความรักในประเทศชาติ มีความรักในประชาธิปไตย ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ยอมรับข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต แล้วหันมาร่วมมือกันแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อให้ประเทศชาติของเรานั้นก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป

สำหรับเรื่องการปรองดองนั้น จะต้องมีการพิจารณาศึกษาในรายละเอียดต่างๆ อย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดกระบวนการที่เหมาะสมได้รับการยอมรับจากทุกส่วน ทุกฝ่าย ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ ชัดเจน และเป็นไปตามหลักการของกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือ ร่วมใจจากทุกฝ่ายที่จะหาจุดประสานความร่วมมือเห็นชอบร่วมกัน โดยจะไม่นำความเห็นต่างที่มีคดีความที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตนั้นมาเป็นกรณีขัดแย้ง แต่จะดำเนินโดยหลักนิติรัฐ และนิติธรรมเป็นสำคัญ

ประเด็นที่ 3 เรื่องการเสนอข้อมูลที่ออกไปในทางกองทัพมีความขัดแย้งกันนั้น มีความพยายามจากบางส่วนที่จะนำเสนอข่าวในเรื่องนี้ ถ้าเกิดมีความขัดแย้งให้เกิดความแตกแยกในกองทัพ นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า ขณะนี้สถานการณ์ในกองทัพนั้นเป็นปกติ กำลังพลทุกนายในกองทัพตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชา จนกระทั่งถึงกำลังพลคนสุดท้ายนั้น มีความรักความสามัคคีต่อกันดี การบริหารราชการภายในก็คงเป็นไปตามบทบาทภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของแต่ละท่าน แม้ว่าบางท่านอาจจะมีแนวความคิดที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือการเคารพต่อการตัดสินใจ การให้เกียรติซึ่งกันและกันตามหน้าที่ภาระของแต่ละคน ซึ่งนายกรัฐมนตรี คาดหมายว่าจะได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนที่จะยุติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จะออกไปในทางความขัดแย้งอย่างที่ผ่านมา เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่เป็นข้อเท็จจริงและไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย

ประเด็นที่ 4 เรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีขอให้คำนึงถึงปัญหาของประเทศชาติที่ผ่านมาเป็นสำคัญว่าแต่ละภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้อย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์ที่สุด และขอให้ทุกคนให้เกียรติและเปิดโอกาสให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้ตั้งขึ้นมาใหม่ตามกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมทั้งมีบางส่วนที่อาจจะมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิม คือ คณะของท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และสภาปฏิรูปแห่งชาติเดิมเข้ามามีส่วนสนับสนุนในการดำเนินการ เพื่อให้ทุกฝ่ายนั้นได้ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อจะนำพาประเทศชาติกลับมาสู่ความผาสุกโดยเร็วที่สุด

ในระยะต่อไปการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำเป็นจะต้องได้รับการรับรู้ ได้รับความร่วมมือ ได้รับความเห็นชอบทั้งจากสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ข้อสรุปในด้านต่างๆ ทั้งรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูป โดยการดำเนินการทุกอย่างนั้นจะต้องเป็นไปอย่างควบคู่กัน นำสิ่งที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ดำเนินการไปแล้วตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาไปพิจารณาเพื่อที่จะวางแนวทางการดำเนินการให้เกิดความชัดเจนในระยะต่อไป หลังจากเดือนกรกฎาคมปี 2560 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งมีคณะรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา

สิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์หรือมอบหมายกระผมเป็นผู้ชี้แจงแถลงข่าวในแต่ละห้วงเวลานั้น ก็เป็นไปเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีกับพี่น้องประชาชน สร้างความเข้าใจกับส่วนราชการ นักการเมือง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นภายในประเทศ เพราะว่าประเทศของเราจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารราชการ การค้า การลงทุน และการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนนั้น เป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

สุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้ฝากพี่น้องประชาชนชาวไทยให้ตระหนักถึงเรื่องสำคัญ 4 ประการด้วยกัน ประการที่ 1 คือ เรื่องความปลอดภัย นั่นหมายความว่าพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนคงจะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่อง หากเห็นอะไรที่ผิดสังเกต ผิดปกติก็ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ร่วมกันตรวจตราให้เกิดความปลอดภัยกับสังคมอย่างแท้จริง

ประเด็นที่ 2 คือ เรื่องความยั่งยืน การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าแก้ไขกันแบบเดิมๆ ที่ผ่านมาก็จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เมื่อแก้แล้วก็จะส่งผลต่อปัญหาใหม่เกิดขึ้นในระยะต่อๆ ไป ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นกำเนิดของปัญหาจริงๆ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน

ประเด็นที่ 3 คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่ละส่วนแต่ละฝ่ายต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน นำมาซึ่งความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินการร่วมกัน

และส่วนสุดท้ายก็คือ ความสำนึกรู้ในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งในส่วนของตัวเองและทั้งในส่วนที่ตัวเองจะต้องมีต่อบุคคลผู้อื่นด้วย แสวงหาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ลดความขัดแย้ง และปฏิบัติตามกฎหมาย มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ขอให้ร่วมมือกันเดินหน้าเพื่อแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาของประเทศร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ