ดิฉัน ขอกราบเรียนว่า คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 448/2558 ที่อ้างถึง (1) นั้น เป็นเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งท่านและนายสมหมาย ภาษี ผู้ออกคำสั่งที่อ้างถึง (1) อ้างว่าเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบตามที่ดิฉันได้โต้แย้งคัดค้านการออกคำสั่งและการดำเนินการตามคำสั่งมาโดยตลอดตามที่อ้างถึง (1) – (12) และยังคงโต้แย้งคัดค้านการออกคำสั่งของท่านต่อไปโดยเฉพาะประเด็นที่ดิฉันมิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาในสายการบังคับของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ ประกอบกับท่านในฐานะประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้แสดงออกจนเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความเห็นต่างในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายรับจำนำข้าว และถือว่าตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และไม่มีความเป็นกลางที่จะใช้อำนาจในทางการบริหารมาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการกระทำทางการบริหารด้วยกัน อันเป็นการขัดต่อ “หลักนิติธรรม"
อีกทั้ง พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งเน้นและบังคับใช้แก่เฉพาะละเมิดอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ (เช่น การกระทำตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา) เพื่อประโยชน์ของทางราชการ แล้วผลก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอก กับละเมิดอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือไม่ก็ตาม
แต่ในกรณีของดิฉัน ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามมาตรา 171 ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามมาตรา 176 ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลของดิฉันดำเนินโครงการตามนโยบายรับจำนำข้าวที่แถลงไว้กับรัฐสภา เป็นการดำเนินโครงการที่มีลักษณะในเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาพืชเศรษฐกิจของประเทศทำนองเดียวกับการดำเนินโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ซึ่งฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบในทางการเมืองมิใช่เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยใช้อำนาจปกครองตามกฎหมาย และมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น การกระทำของดิฉันจึงมิอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
นอกจากนี้ แม้แต่ในมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บังคับแก่ “รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี "และในมาตรา 4 (3) ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ บังคับแก่ “...การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง..." ดังนั้น ในกรณีนี้ยิ่งเป็นอันชัดเจนว่ามิอาจนำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาใช้บังคับกับดิฉันได้ด้วย เพราะเมื่อพิจารณาถึงคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 ดังกล่าวข้างต้น ก็ได้บรรยายข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนแล้วว่า ดิฉันถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในกรณีอ้างว่า ดิฉันได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวก็เป็นที่ทราบ รับรู้ และประจักษ์ชัดกันโดยทั่วไปแล้วว่า การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางนโยบายโดยตรงของพรรคเพื่อไทย ที่ได้ประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง และต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามารับผิดชอบเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ดิฉันในฐานะหัวหน้ารัฐบาลหรือในนามคณะรัฐมนตรีก็ได้แถลงนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภา อันเป็นความผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดโดยมิอาจปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้
ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของดิฉันจึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ของดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ “เป็นการปฏิบัติโดยทั่วไป" ซึ่งไม่มีการใช้อำนาจทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามหน้าที่นั้นแต่อย่างใด การออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด ทั้งผู้ออกคำสั่งดังกล่าวก็อาจต้องรับผิดชอบต่อการออกคำสั่งนั้นด้วย ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 448/2558 จะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายก็ตาม แต่หากคณะกรรมการตามคำสั่งดังกล่าวจะฝ่าฝืนดำเนินการตามคำสั่งนั้นต่อไป โดยหนังสือนี้ดิฉันก็สงวนสิทธิ์ และขอโต้แย้งคัดค้านการกระทำของคณะกรรมการดังกล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวได้อ้างอำนาจตามความในข้อ 10 และข้อ 11 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยระบุให้คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงที่เกี่ยวข้อง รับฟังพยานบุคคลฯ... และให้ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ดังกล่าว ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวข้อ 15 กำหนดว่า “คณะกรรมการต้องให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงโต้แย้งแสดงหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรมฯ" แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านและไม่ปฏิบัติตามข้อ 15 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพราะไม่ได้ให้โอกาสแก่ดิฉันชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้ง แสดงหลักฐานอย่างเพียงพอ ทั้งๆ ที่ดิฉันได้แสดงเจตนาใช้สิทธิตามข้อ 15 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้างต้น ดังรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย (1) ถึง (12) อย่างชัดเจนแล้ว เช่น ดิฉันได้ขออ้างพยานบุคคลให้คณะกรรมการฯสอบสวน แต่คณะกรรมการฯไม่ดำเนินการสอบสวนให้แม้แต่รายเดียว แต่กลับมีการเร่งรีบ รวบรัด การดำเนินการสอบสวน ทั้งที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลท่านเองได้แจ้งต่อสาธารณะโดยทั่วไปว่า “อายุความ" คดีนี้ยังมีอยู่ถึง 1 ปี ครึ่ง การกระทำของคณะกรรมการดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของท่านแต่อย่างใด ซึ่งหากคณะกรรมการฯเสนอผลการดำเนินการมาให้ท่านพิจารณาและท่านพิจารณาเห็นชอบผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯนั้นต่อไป ท่านอาจต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ คำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 48/2558 ที่ระบุข้อความอยู่แล้วว่า มูลเหตุกรณีมาจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการดำเนินการทางอาญาและต่อมามีการฟ้องดิฉันต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญา ตามที่อ้างถึง (2) ดังนั้น การพิจารณาของคณะกรรมการฯ จะต้องรอผลการดำเนินคดีในส่วนอาญาให้ได้ข้อยุติเสียก่อนว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาเช่นใด จากนั้นจึงจะพิจารณาในเรื่องความรับผิดทางละเมิดต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย เพราะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และเป็นวิธีที่ถือปฏิบัติกันเป็นปกติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การที่คณะกรรมการฯ เร่งรีบพิจารณาดำเนินการและด่วนสรุปเรื่องการสอบสวน ตามคำสั่งที่อ้างถึง (1)โดยไม่รอผลคดีอาญา ตามที่อ้างถึง (2) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเสนอให้ดิฉันต้องเป็นผู้รับผิดในทางละเมิดแล้ว การกระทำของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวจะส่งผลทำให้ท่านจะต้องเกิดความรับผิดชอบขึ้นได้ ดิฉัน ขอกราบเรียนยืนยันว่า การกระทำตามนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลของดิฉันในฐานะที่ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรี มิได้เป็นความผิดในทางอาญาและไม่ต้องมีความรับผิดในมูลละเมิดแต่ประการใดทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประกอบกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ได้แสดงยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวของดิฉันมิได้เป็นความผิด
ด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ดิฉันกราบเรียนมาข้างต้น กรณีที่ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งพิจารณาร่วมกันและมีคำวินิจฉัยสั่งการตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ แล้ว ส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงการคลังตามข้อ 17 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ย่อมไม่อาจกระทำได้ รวมตลอดถึงกรณีจะมีการออกคำสั่งให้ดิฉันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมากกว่าห้าแสนล้านบาท ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก็ย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวมาโดยละเอียดมาแล้วข้างต้น ซึ่งในเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบได้เคยแสดงความเห็นด้วยและออกมาให้ข่าวชี้นำคณะกรรมการฯ ชี้นำตัวท่านและชี้นำสังคมตลอดมาอย่างต่อเนื่องว่า จะเลือกดำเนินการวิธีนี้ (ใช้มาตรา 57 ออกคำสั่ง) โดยไม่ใช้วิธีฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ซึ่งดิฉันขอโต้แย้ง คัดค้านว่าหากปล่อยให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการดังกล่าวนั้น จะเป็นการกระทำฝ่าฝืนและปฏิบัติผิดต่อกฎหมายดังกล่าว และเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันด้วย ดังเช่นในอดีตที่มีการดำเนินการทางละเมิดกับนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในการป้องกันค่าเงินบาท รัฐบาลขณะนั้นก็เลือกที่จะใช้วิธีฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท (โดยไม่ใช้วิธีออกคำสั่งตามมาตรา 57) โดยหนังสือฉบับนี้ ดิฉันจึงขอโต้แย้งคัดค้านว่าท่านจะดำเนินการออกคำสั่งตามมาตรา 57 ให้ดิฉันต้องชดใช้ค่าเสียหายโดยไม่ใช้วิธีการตามกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรมไม่ได้ (รวมถึงให้รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งคนใดจะออกคำสั่งแทนตัวท่านด้วยก็ไม่อาจกระทำได้เช่นเดียวกัน) ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้จึงเรียนมายังท่านเพื่อ
(1) คัดค้านคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่อ้างถึง (1) และพร้อมกับกราบเรียนขอความเป็นธรรมขอให้ท่านโปรดพิจารณาทบทวนการออกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 ด้วยการออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ที่อ้างถึง (1) พร้อมกับยกเลิกเพิกถอนการกระทำทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งที่อ้างถึง (1) ดังกล่าวทั้งหมดต่อไปด้วย
(2) หากยังคงฝืนดำเนินการตาม (1) ข้างต้น ดิฉันขอให้ท่านกำกับ ควบคุม ดูแลให้คณะกรรมการฯ ที่ท่านมีคำสั่งแต่งตั้งได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 15 โดยเคร่งครัดและได้ให้โอกาสดิฉันโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานต่างๆ ตามหนังสือที่อ้างถึงต่อไป
จึงกราบเรียนมาเพื่อขอได้โปรดพิจารณา เพื่อให้ดิฉันได้รับการปฏิบัติจากท่านด้วยความเป็นธรรมตามสมควรและเหมาะสมต่อไป
ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึกดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีไม่ใช้อำนาจทางการบริหารดำเนินคดี แต่เมื่อสอบสวนเสร็จควรส่งฟ้องศาลพิจารณาซึ่งถือว่าถูกต้องกว่า
นายนรวิชญ์ ระบุว่า การเดินทางยื่นหนังสือในวันนี้ เนื่องจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นว่าการสอบสวนตามคำสั่ง 448/2558 ลงวันที่ 3 เมษายน 2558 กรณีที่พลเอกประยุทธ์ ร่วมกับรมว.คลัง ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด และกรณีมีข่าวว่า รัฐบาลกำลังใช้อำนาจทางการบริหาร หรือมาตรการทางปกครองตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 57 ให้ผู้เกี่ยวข้องชำระหนี้ทางละเมิดนั้น ไม่เป็นไปตามระเบียบ กฏหมายและหลักนิติธรรม เนื่องจาก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และมาตรา 4 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วนหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่รวมตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของพลเอกประยุทธ์และรมว.คลังที่ออกคำสั่งให้มีการสอบสวน
"ในฐานะฝ่ายบริหารด้วยกัน ไม่อยากให้อำนาจบริหารในลักษณะแบบนี้ ควรให้ศาลพิจารณาจะถูกต้องกว่า"นายนรวิชญ์ กล่าว