ทั้งนี้ ยืนยันการดำเนินคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันต้องเร่งดำเนินการให้ทันกรอบเวลาของอายุความ 2 ปี และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะใช้มาตรการทางการปกครองดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้น ก่อนสรุปข้อมูลทั้งหมดให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์และตนเองในฐานะหัวหน้ารัฐบาลพิจารณา ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเห็นแย้งกับผลการพิจารณาที่ออกมาก็สามารถร้องต่อศาลปกครองได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไม่ได้ใช้กลไกพิเศษ หรือใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปดำเนินการเร่งรัด และไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องปฎิบัติตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ในอนาคต
"เมื่อกี้ผมฟังนายวิษณุชี้แจงในที่ประชุมมา ผมจับความได้ว่าใครก็ตามที่เป็นหัวหน้าในการดำเนินนโยบายต้องรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งกฏหมายเขียนว่าต้องรับผิดชอบในกรณีเกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นมาตรการทางการปกครอง ส่วนจะร่วมทุจริตด้วยหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่มันเกิดการทุจริตขึ้นนั้นเป็นอีกคดีหนึ่ง ซึ่งผมต้องใช้มาตรการทางปกครอง ผลละเว้นไม่รู้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนจำนวนตัวเลขความเสียหายนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองยังไม่ได้ลงนามสรุปตัวเลขความเสียหาย เพราะยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งการพิจารณาต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ การคิดคำนวณความเสียหายต้องพิจารณาจากข้าวในคลังด้วย ซึ่งจากข้าวในคลังประมาณ 18 ล้านตัน ขายได้เพียง 4-5 ล้านตัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องคดีความที่มีต่อรัฐบาลในชุดที่ผ่านๆมาว่า รัฐบาลพยายามหาแนวทางต่อสู้คดีหรือแก้ไขปัญหาเพื่อให้ลดความเสียหายลงมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาโทลเวย์ เรื่องคลื่นความถี่ เป็นต้น