ชาวสวนยางขู่ชุมนุมหากรัฐไม่ช่วยชดเชยส่วนต่างแก้ปมราคาตกต่ำภายใน เม.ย.59

ข่าวการเมือง Wednesday October 14, 2015 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้เข้ามาช่วยเหลือชาวสวนยางพาราที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ด้วยการจัดสรรงบประมาณมาจ่ายชดเชยส่วนต่างราคายางให้เกษตรกรรายย่อย โดยขีดเส้นตายให้รัฐบาลดำเนินการภายในเดือน เม.ย.59 ไม่เช่นนั้นจะนัดชาวสวนยางพาราทั่วประเทศออกมาชุมนุม

"หากรัฐบาลไม่ดำเนินการ ชาวสวนยางทั่วประเทศจะชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล เพราะที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและ คสช.มาโดยตลอด" นายสุนทร รักษ์วงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวภายหลังยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล

โดยข้อเรียกร้องของเกษตรกรครั้งนี้ คือ การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ โดยให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างราคายางให้กับเกษตรกรที่จดทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) และชะลอการตัดโค่นยางตามนโยบายการทวงคืนผืนป่า ตลอดจนขอให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองระดับชาติและจังหวัดโดยให้เกษตรกรเข้าไปร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาแยกแยะพื้นที่สวนยางของคนจนและนายทุน โดยไม่ให้กระทบกับคนจนและคนไร้ที่ดินทำกินตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/57 และให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และคนกรีดยางสามารถจดทะเบียนเกษตรชาวสวนยางได้ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย

สำหรับหลักเกณฑ์การชดเชยส่วนต่างราคายางพาราเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยนั้นไม่เกินรายละ 15 ไร่ ไร่ละ 3,550 บาท โดยคำนวนจากส่วนต่างของราคาตลาดกิโลกรัมละ 15 บาท เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ทั้งปี 236 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,550 บาท โดยเงินชดเชยจำนวนดังกล่าวจะแบ่งให้เจ้าของสวนยางตามสัดส่วน 60% หรือจำนวน 2,124 บาทต่อไร่ และชดเชยให้คนกรีดยางอีก 40% หรือจำนวน 1,416 บาทต่อไร่ โดยให้โอนเงินเข้าบัญชีเจ้าของสวนยางและคนกรีดยางที่จดทะเบียนไว้กับ กยท.โดยตรง ภายในเดือน เม.ย.59


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ