"วิษณุ"ปัด รธน.ชั่วคราว ม.35 ไม่ใช่ปัญหา แนะรอ กรธ.ร่างเสร็จค่อยวิจารณ์

ข่าวการเมือง Friday October 16, 2015 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 เนื่องจากเป็นกรอบที่แคบเกินไป ว่า มาตรา 35 นั้นเป็นการกำหนดว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่างขึ้นอย่างน้อยจะต้องมีบทบัญญัติตามที่ได้ระบุไว้ โดยเรียกว่ากรอบ มีด้วยกัน 10 ข้อ กับอีก 1 วรรค หากใครมาบอกว่าให้ทบทวนหรือให้รื้อด้วยเหตุผลแคบไปก็ไม่มีปัญหา เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเขียนให้กว้างกว่านี้ก็ได้
"ผมเข้าใจว่ามีคนเป็นห่วงเรื่องบทบัญญัติเหล่านี้จะเป็นการปิดประตูในหลายๆอย่าง แต่กรอบนี้เขียนไว้แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ถือเป็นเจตนารมรณ์เดิมตั้งแต่ต้น แต่เป็นเพียงกรอบ เช่น การกำหนดกรอบให้เขียนหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้นจึงจะเขียนอย่างไรก็ได้เพียงให้เป็นตามกรอบ ผมเห็นว่าไม่ได้แคบไปอย่างที่บางคนวิจารณ์ และไม่เข้าใจว่าเสียงที่เรียกร้องให้แก้นั้นต้องการให้แก้ไขอย่างไร" นายวิษณุ กล่าว

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยมองว่ากรอบในมาตรา 35 ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นสากลนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นความเห็นของพรรคเพื่อไทย แต่ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวและรัฐบาลไม่เห็นว่าประเด็นนี้เป็นข้อจำกัด เพราะถ้ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างเป็นก็จะร่างออกมาแบบสากลและอยู่ในกรอบมาตรา 35 ซึ่งไม่ใช่เรื่องลำบาก และหากดูรายละเอียดในมาตรา 35 ก็จะพบว่านั่นเป็นสิ่งที่คนไทยเรียกร้องมาโดยตลอด เช่น มาตรการป้องกันผู้ที่ทุจริตเข้าสู่การเมือง ป้องกันการประชานิยมโดยไม่สมควร วางหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกรอบมาตรา 35 เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ผิดแปลกหรือพิสดารแต่อย่างใด

ส่วนที่บางฝ่ายเป็นห่วงว่ากรอบตามมาตรา 35 จะมีการร่างให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ(คปป.) อยู่ด้วยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในกรอบตามมาตรา 35 ซึ่งจะเขียนหรือไม่เขียนก็สุดแท้แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) อย่างไรก็ตามเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงต้องรอดูการทำงานของ กรธ. ซึ่งรัฐบาลและ คสช.ไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เพราะถือว่าให้กรอบตามมาตรา 35 ไปแล้ว และขณะนี้ กรธ.ได้ให้อนุกรรมการร่างเนื้อหาเบื้องต้นตามแต่ละหมวดไปก่อน

รองนายกรัฐมนตรียอมรับว่า มาตรา 35 ทำให้ กรธ.ขาดอิสระในการทำงาน เพราะต้องทำงานในกรอบที่กำหนดไว้ ไม่ได้ปล่อยให้เขียนตามใจชอบ และในอดีตที่ผ่านมาการเขียนรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีกรอบวางไว้ แต่สุดท้ายก็เขียนโดยไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร ทั้งนี้ กรธ.ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญหลุดไปจากกรอบมาตรา 35 นี้ได้ แต่ยืนยันว่ากรอบนี้กว้างพอที่จะเขียนอย่างไรในรายละเอียดก็ได้

ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่มีต่อ กรธ.เกี่ยวกับการขยายอำนาจหน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการเสนอความคิดเห็นเมื่อ กรธ.เชิญ กกต.มา กกต.ก็ต้องพูดถึงปัญหาของตัวเอง แต่คนที่รับฟังต้องฟังด้วยวิจารณญาณอย่างเป็นธรรมว่าพูดถึงปัญหาของตัวเองแล้วเกี่ยวกับปัญหาของประเทศด้วยหรือไม่ เพราะตัวตนของคน เช่น นาย ก. หรือนาย ข. ไม่สามารถอยู่ยาวได้อย่างนั้น แต่ กกต.อาจมองถึงปัญหาเก่าๆ จึงเสนอให้อยู่ในวาระ 7 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะอยู่ถึง 7 ปี เพราะอย่างน้อยก็จะถูกล็อคด้วยอายุ เช่น วาระดำรงตำแหน่งของกรรมการ ป.ป.ช.ที่อยู่ 9 ปี แต่บางคนอยู่ 2 ปีก็ครบแล้ว ส่วนที่ขอเพิ่มอำนาจเพราะอยากให้งานมีประสิทธิภาพก็มีสูตรการแก้ปัญหา เช่น 1.ขาดคน 2.ขาดงบประมาณ 3.ขาดอำนาจ จึงต้องขอเงินและขออำนาจเพิ่ม

สำหรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ทุกฝ่ายสามารถเสนอความเห็นเข้ามาได้และเมื่อถึงเดือน ม.ค.59 ซึ่ง กรธ.จะเขียนเสร็จ จากนั้นจึงจะส่งร่างแรกให้หน่วยงานต่างๆ เอาไปพิจารณา ซึ่งหากใครจะวิพากษ์วิจารณ์ก็ค่อยทำในตอนนั้น

"กรธ.ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้สมองคิด ถกเถียงกัน และต้องมีสามัญสำนึก นิติสำนึก สาธารณะสำนึก หมายถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะบางครั้งหลักวิชาก็ใช้กับประโยชน์ส่วนรวมไม่ได้ ขณะที่ประชาชนต้องมี 1.ฉันทะ ความพอใจ โดยต้องพอใจผู้ร่างและตัวร่างฯ 2.วิริยะ ความขยัน หมั่นเพียร กรธ.ต้องขยันร่าง ขณะที่ประชาชนต้องขยันทำความเข้าใจ สื่อมวลชนต้องขยันติดตามมาทำข่าว 3.จิตตะ ความเอาใจใส่ 4.วิมังสา การไตร่ตรอง นั่นคืออิทธิบาท 4 หรือหนทางแห่งความสำเร็จนั่นเอง สาธุ" นายวิษณุ กล่าว

ส่วนการดำเนินคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ส่วนตัวขอหยุดพูดเรื่องนี้สักระยะหนึ่ง เพราะการออกมาพูดรายวันนั้นไม่เป็นธรรมต่อเจ้าตัว ที่พูดกันมาก็น่าจะเพลากันไว้ก่อน ที่ผ่านมาตนเองพูดเพื่อความเข้าใจให้กับประชาชน ไม่ได้ไปซ้ำเติมอดีตนายกรัฐมนตรี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ